ชาวโรฮิงยา ผู้ลี้ภัยจากพม่า อยู่ในไทยกว่า 10,000 คน

อาชญากรรม
15 ม.ค. 56
03:25
112
Logo Thai PBS
ชาวโรฮิงยา ผู้ลี้ภัยจากพม่า อยู่ในไทยกว่า 10,000 คน

การที่รัฐบาลทหารพม่า ใช้มาตรการต่างๆกีดดันไม่ให้ชาวโรฮิงยา เป็นส่วนหนึ่งของพม่า ทำให้ชาวโรฮิงยาต้องหนีภัยออกจากพม่า ไปยังชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งแต่ในบังกลาเทศ ปากีสถาน มาเลเซีย และเชื่อว่ามีจำนวนมากกว่า 10,000 คนในประเทศไทย

ชาวโรฮิงยาเป็นประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐอารากัน หรือ ยะไข่ ในตอนเหนือของประเทศพม่าติดกับชายแดนประเทศบังกลาเทศ ชาวโรฮิงยามีภาษาเป็นของตัวเอง คือ ภาษาอินดิค ที่มีความคล้ายกับภาษาเบงกาลีที่ใช้พูดในประเทศบังกลาเทศ ส่วนประชากรของชาวโรฮิงยามีประมาณ 700,000 -1,500,000 คนในรัฐอารากันที่มีประชากร 3,000,000 คน

ประวัติศาสตร์ของชาวโรฮิงยามีความหลากหลายอย่างมาก มีรายงานและงานวิจัยหลายส่วนที่ให้ข้อมูลไว้ว่าเป็นผู้คนที่อยู่ในตอนเหนือรัฐอารากันมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 7-12 และได้นับถือศาสนาอิสลามเนื่องจากพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐอารากันมีพ่อค้าชาวอาหรับเข้ามาค้าขายเป็นเวลายาวนาน

แต่ในมุมมองของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ชาวโรฮิงยาเป็นประชาชนที่ "ลี้ภัยอย่างผิดกฎหมาย" และอพยพมากจากประเทศบังกลาเทศในสมัยที่พม่าตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของจักรวรรดินิยมอังกฤษ ดังนั้นด้วยทัศนคติเช่นนี้ของรัฐบาลเผด็จการพม่าทำให้ประชาชนชาวโรฮิงยาไม่ได้รับการรวมเข้าไปในกลุ่มชนพื้นเมือง ในรัฐธรรมนูญพม่า ส่งผลให้ไม่ได้รับสัญชาติพม่า

การที่ชาวโรฮิงยาไม่ได้รับสัญชาติทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ จากรัฐบาล ซึ่งรวมถึงสิทธิที่จะนับถือศาสนา การเข้าถึงการศึกษา สิทธิในการรักษาโรค จนถึงไม่สามารถแต่งงานได้ ถูกบังคับให้เป็นทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน และไม่สามารถเดินทางออกนอกเพื่อไปประกอบอาชีพนอกพื้นที่ได้ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากจนมาก

นอกจากนี้ชุมชนชาวโรฮิงยายังได้รับการปราบปรามอย่างต่อเนื่องโดยมีเหตุการณ์สำคัญในปี ค.ศ. 1962 1978 และ 1991 ทำให้มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาหลบหนีภัยเข้าไปในบังคลาเทศ ปากีสถาน ซาอุดิอาระเบีย เป็นหลัก โดยที่ประเทศรองลงมา คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรต มาเลเซีย และประเทศไทย


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง