สปสช.เผยผลรับฟังความคิดเห็น ปชช.ขอมีส่วนร่วมนโยบาย 3 กองทุนมาตรฐานเดียว

สังคม
16 ม.ค. 56
07:21
148
Logo Thai PBS
สปสช.เผยผลรับฟังความคิดเห็น ปชช.ขอมีส่วนร่วมนโยบาย 3 กองทุนมาตรฐานเดียว

ข้อเสนอภาคปชช-หน่วยบริการปี 55 ไม่ตัดสิทธิจำนวนครั้งคลอดบุตร พิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล คัดกรองกลุ่มเสี่ยงแรงงานนอกระบบ ขอมีส่วนร่วมลดเหลื่อมล้ำบริการสุขภาพ 3 กองทุน แนะเตรียมความพร้อมด้านการคลังรองรับเปิดเศรษฐกิจเสรีอาเซียนป้องกระทบหน่วยบริการสุขภาพขนาดเล็ก

 นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้านการแพทย์ทางเลือกและในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า  หลังจากที่ สปสช.ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้ให้บริการสาธารณสุขเกี่ยวกับการดำเนินการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประจำปี 2555 ในรูปแบบสมัชชาพิจารณ์ ระดับภาคทั้ง 4 ภาค ภาคละ 1 จังหวัด ตั้งแต่พฤษภาคม-กันยายน 2555 ที่ผ่านมา  พบว่า จากผลการรับฟังความเห็นมีประเด็นที่ผู้เข้าร่วมทั้งภาคประชาชนและหน่วยบริการมีข้อเสนอที่หลากหลายประเด็น โดยเฉพาะภาคประชาชนมีข้อเสนอ ในเรื่องที่ใกล้ตัวคือ  เรื่องสิทธิประโยชน์ นั้น มีข้อเสนอให้เพิ่มการรักษารากฟันในทุกกลุ่มอายุ ไม่จำกัดจำนวนครั้งในการคลอดบุตร  หรือการตรวจดีเอ็นเอเพื่อทราบสถานะบุคคล  ตลอดจนให้ทุกกองทุนสุขภาพภาครัฐอีก 2 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม มีระบบการเยียวยาช่วยเหลือเบื้องต้นหรือมาตรา 41  แห่งพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ   ขณะเดียวกัน ยังได้เสนอให้มีเครื่องช่วยคนพิการ เช่น ที่นอนลม ผ้าอ้อม การตรวจสุขภาพประจำปีทุกโรค เช่น คัดกรองภาวะเสี่ยงในกลุ่มแรงงานนอกระบบ และขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลปัญหาแรงงานต่างด้าวด้วย

 
กรรมการหลักประกันสุขภาพฯกล่าวว่า ในเรื่องคุณภาพและมาตรฐานนั้น ในส่วนของผู้ให้บริการมีข้อเสนอให้ทบทวนตัวชี้วัดหรือเกณฑ์ประเมินคุณภาพและมาตรฐานบริการที่ง่ายและเหมาะสม พร้อมทั้งเสนอให้ ใช้มาตรการด้านการเงินอย่างเข้มงวดในการผลักดันให้หน่วยบริการปรับปรุงมาตรฐาน  ขณะที่การส่งต่อและการประสานหาเตียงให้ผู้ป่วยในรพ.รัฐยังมีอุปสรรคอยู่บ้างโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯโดยเสนอให้ สปสช.ควรจัดรพ.เอกชนทุกแห่งเข้าร่วมโครงการได้ด้วย
 
 สำหรับในเรื่องการเงินการคลังนั้น  ผู้ให้บริการมีข้อเสนอให้เพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัว และขอให้หารือกับรัฐบาลขอให้มีการทบทวนงบรายหัวคงที่ 3 ปี เพราะจะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการของหน่วยบริการได้   อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการจัดสรรเงินขอให้เน้นการสร้างความเป็นธรรมลงไปถึงระดับพื้นที่ทั้งอำเภอหรือแม้แต่หน่วยบริการขนาดเล็กด้วย  และข้อเสนอยังรวมถึงขอให้มีการทบทวนการหักเงินเดือนของจังหวัดที่มีข้าราชการน้อยไปช่วยจังหวัดที่มีข้าราชการมาก  ควรให้มีการเบิกจ่ายสำหรับการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน และมีการเตรียมการด้านการเงินเพื่อรองรับอาเซียน(AEC)  ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558  ซึ่งจะต้องมีการเตรียมพร้อมในการรองรับ จะได้ไม่ส่งผลกระทบต่อหน่วยบริการในอนาคต รวมทั้งให้มีการปรับระบบการจ่ายล่วงหน้าให้มากขึ้น และควรมีการตั้งกองทุนสำรองระดับเขตเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องของหน่วยบริการ แก้ไขให้งบเหมาจ่ายไม่รวมเงินเดือน พัฒนาการเรียกเก็บเงินชดเชยค่าบริการผ่านระบบดีอาร์จี
 
  นายแพทย์จรัล กล่าวว่า  สำหรับการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ผู้เข้าร่วมได้เสนอให้เพิ่มงบสนับสนุนค่าบริการ และให้ อปท.สมทบตามขนาดของกองทุน ทบทวนโครงสร้างคณะกรรมการบริหารกองทุนให้ครอบคลุมภาคส่วน  รวมทั้งการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน สนับสนุนให้มีศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนระดับตำบลและระดับอำเภอ และในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน  ให้มีตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย  รวมทั้งด้านการบริหารจัดการของสปสช. ควรให้มีการจัดส่งข้อมูลรายงาน  ซึ่งไม่ควรให้เป็นภาระของหน่วยบริการ โดยต้องสะดวกต่อผู้ปฏิบัติงาน ขณะเดียวกันขอความร่วมมือประสานสถาบันการศึกษาเพื่อจัดให้มีหลักสูตรเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นความรู้พื้นฐานในทุกระดับการศึกษา
 
“การรับฟังความคิดเห็นนั้นเป็นไปตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่กำหนดให้จัดประชุมเพื่อให้คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ สรุปบทเรียนและประสบการณ์การดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานและเตรียมความพร้อมสำหรับการสร้างหลักประกันสุขภาพในอนาคต” นพ.จรัลกล่าว
 
นายแพทย์วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการสปสช. กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2548-2554 ที่ผ่านมาได้รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนและได้มีการประกาศเป็นนโยบายหรือกำหนดเป็นชุดสิทธิประโยชน์แล้ว   เช่น   การสนับสนุน เร่งรัดพัฒนาบริการปฐมภูมิใกล้บ้านใกล้ใจ การให้ความคุ้มครองผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ การเพิ่มการเข้าถึงบริการแพทย์แผนไทย การบริหารจัดการโรคที่มีค่าใช่จ่ายสูงอย่างครบวงจร การขยายบริการทดแทนไตสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ยกเลิกการจำกัดการคุ้มครองการเจ็บป่วยฉุกเฉินไม่เกิน 2 ครั้งต่อไป การเพิ่มการเข้าถึงยาราคาแพง และยาในบัญชี จ(2) การนำร่องการใช้บัตรประชาชน Smart card แทนบัตรทอง  การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ การผ่าตัดหัวใจ เป็นต้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง