จับตา "ญี่ปุ่นเยือนไทย" ในรอบ10ปี นัยแฝงที่มากกว่าการค้าลงทุน

16 ม.ค. 56
13:32
83
Logo Thai PBS
จับตา "ญี่ปุ่นเยือนไทย" ในรอบ10ปี นัยแฝงที่มากกว่าการค้าลงทุน

วันพรุ่งนี้(17ม.ค.55) นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น จะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ซึ่งนอกจากไทยแล้ว ผู้นำญี่ปุ่นยังเยือนชาติในอาเซียนอีก 2 ประเทศ คือ เวียดนามและอินโดนีเซีย ประเด็นหลักในการหารือ แม้จะเป็นเรื่องความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน แต่นัยที่แฝงมากับการเดินทางของผู้นำสายเหยี่ยวของญี่ปุ่น คือเรื่องของความมั่นคงและการถ่วงดุลย์อิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แม้การเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกหลังรับตำแหน่ง เพื่อแนะนำตัวตามธรรมเนียมปฏิบัติของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในครั้งนี้ เลือกชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ เวียดนาม ไทย และอินโดนีเซีย แทนการเยือนพันธมิตรสำคัญอย่างสหรัฐ ที่กำหนดการของผู้นำยังไม่ตรงกัน แต่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความตั้งใจของญี่ปุ่น ที่พุ่งตรงสู่ประเทศในกลุ่มอาเซียนเพื่อคานอิทธิพลจีน

ก่อนออกเดินทางสู่เวียดนามในวันนี้(16ม.ค.55) ผู้นำญี่ปุ่นประกาศอย่างชัดเจนว่า เขาต้องการให้การเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรก หลังการรับตำแหน่งเป็นจุดเริ่มต้นยุทธศาสตร์การทูตของรัฐบาล และเน้นย้ำว่า ขณะนี้สภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก้าวย่างสู่การเปลี่ยนแปลงที่รุดหน้า ดังนั้นการสานสัมพันธ์กับอาเซียน จะช่วยเสริมสร้างสันติภาพ ความมั่นคง และยังประโยชน์แก่ญี่ปุ่นได้

   
ประเด็นสำคัญที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเตรียมหารือกับผู้นำทั้ง 3 ชาติ คือการกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในอาเซียน ขณะที่อาเซียนก็สำคัญต่อญี่ปุ่นในฐานะตลาดส่งออกศักยภาพสูง และสามารถชดเชยความเสียหายของการส่งออกสู่ตลาดจีนที่ปรับตัวลดลงมากกว่าร้อยละ 8 หลังเกิดกรณีพิพาทดินแดนในทะเลจีนตะวันออก

เพราะข้อพิพาทเกาะเซ็นกากุ หรือเตี้ยวอวี๋นี่เอง ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นักวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ความมั่นคงในเอเชียในออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่า การเดินทางของนายอาเบะครั้งนี้ มีนัยยะทั้งทางด้านการเมือง การทูต ความมั่นคง การป้องกันประเทศ และการแสดงจุดยืนของญี่ปุ่นเข้าเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้ง

ห้วงเวลาการเยือน เกิดขึ้นในขณะที่ความตึงเครียด เพราะกรณีพิพาทพรมแดนทางทะเลระหว่างจีน กับ 4 ประเทศในอาเซียน ยังคงคุกรุ่น จึงไม่น่าแปลกที่ญี่ปุ่นจะใช้ช่วงเวลานี้สร้างเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลกับทั้งชาติในอาเซียนทีมีปัญหาพิพาททางทะเลกับจีนเหมือนกัน โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ ที่แข็งกร้าวต่อจีนที่สุด และก่อนหน้านี้กระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่น ระบุชัดเจนว่าญี่ปุ่นจะเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรด้านการเมืองและความมั่นคงกับเวียดนามและอินโดนีเซีย

   

การเยือนไทยอาจมุ่งเน้นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ก็เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณโดยตรงถึงจีน ว่าญี่ปุ่นไม่มีทางปล่อยมือจากประเทศหลักๆในอาเซียน  ซึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อน รองนายกรัฐมนตรีทาโร่ อะโซ ได้เดินทางเยือนพม่า ขณะที่นายฟุมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีต่างประเทศเดินทางเยือนฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบรูไน

นับเป็นการดำเนินนโยบายการทูตเชิงรุกของญี่ปุ่นอย่างที่ไม่ค่อยจะได้เห็นนัก และอาจกล่าวได้ว่านี่เป็นการแก้เผ็ดที่จีนกดดันหนักญี่ปุ่นอย่างหนักในกรณีพิพาททางทะเล แต่จะสำเร็จหรือไม่ คำตอบขึ้นสุดท้าย ย่อมขึ้นอยู่กับท่าทีและการบริหารดุลย์อำนาจของประเทศในอาเซียน ที่ตอนนี้อยู่ในฐานะเสียใครไปไม่ได้ไม่ว่าจะญี่ปุ่นหรือจีน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง