กทม.กับนโยบายพัฒนาเด็กและเยาวชน

16 ม.ค. 56
13:35
573
Logo Thai PBS
กทม.กับนโยบายพัฒนาเด็กและเยาวชน

ที่ผ่านมานโยบายด้านเด็กและเยาวชนในระดับท้องถิ่นถูกให้ความสำคัญค่อนข้างน้อย มีการสำรวจพบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ กว่า 7,500 แห่ง มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ที่มีนโยบายสนับสนุนเรื่องนี้

แต่สำหรับกรุงเทพมหานคร นี่กลับเป็นนโยบายหลักที่ถูกนำมาเรียกคะแนนเสียง แทบทุกสมัยของการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทมง อย่างเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เรื่องถูกเสนอให้เป็น 1 ใน 7 ยุทธศาสตร์เปลี่ยนกรุงเทพฯจากภาคประชาสังคมด้วย

5 ข้อหลักที่เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพของเยาวชนกรุงเทพฯ ที่เครือข่ายพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพฯ มุ่งหวังให้เยาวชนได้มีโอกาสร่วมคิด ร่วมพัฒนากรุงเทพฯอย่างสร้างสรรค์ โดย 1 ใน 5 ข้อที่ว่านี้ คือ การจัดระเบียบสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร ที่เป็นกลไกสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชน ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติปี 2550 เป้าหมายของการจัดระเบียบ ก็เพื่อให้มีความชัดเจนทั้งในบทบาทหน้าที่ และขอบข่ายงาน โดยเฉพาะการเป็นตัวเชื่อมระหว่างเยาวชน กับกรุงเทพมหานครและกลุ่มองค์กรอื่นๆ

   

แนวคิดการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานครตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับ 6 คือการเชื่อมโยง ขยายเครือข่าย รวมถึงประสานงานร่วมกับผู้บริหารท้องถิ่น ให้เกิดแรงขับเคลื่อนด้านเด็กและเยาวชนอย่างครอบคลุม

ผู้แทนจากเครือข่ายเยาวชนใส่ใจไทย หนึ่งในภาคีเครือข่ายที่ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย ให้จัดระเบียบสภาเยาวชน กทม.ให้ชัดเจนขึ้น มองว่า 4 ปีที่ผ่านมา ขอบข่ายการทำงานเป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่ต้องไม่ลืมที่จะสร้างความเท่าเทียม ด้วยการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนทุกกลุ่ม

นอกจากการจัดระเบียบสภาเด็กและเยาวชนกทม.แล้ว ข้อเสนอในการสร้างหลักสูตรพัฒนาศักยภาพเยาวชน การจัดหาพื้นที่สร้างสรรค์ และดึงองค์กรภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อสนับสนุนเยาวชน เป็นสิ่งที่ตัวแทนเครือข่ายเยาวชนใส่ใจไทยมองว่า กทม. ภายใต้การบริหารของม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มีความพยายามที่จะเดินหน้า ตามที่พวกเค้าคาดหวังไว้

   

โดยตลอดปี 4 ปีที่ผ่านมา กทม.มุ่งเน้นไปที่โครงการจับต้องได้ อย่างการพัฒนาระบบการศึกษา ด้วยการสานต่อนโยบายจากผู้ว่าฯ คนก่อน ที่สังกัดพรรคเดียวกัน ทั้งโครงการเรียนฟรีเรียนดี และยกระดับโรงเรียนสังกัด กทม. ที่หลายฝ่ายยอมรับว่า เป็นผลงานเด่นของ กทม. รวมไปถึงการเพิ่มพื้นที่ให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์

ส่วนกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ที่จะรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากเยาวชน เป็นสิ่งที่ยังไม่ชัดเจน ความจริงก็มีหลายท้องถิ่น ที่เป็นตัวอย่างการจัดการที่เปิดให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนท้องถิ่นอย่างเข้มแข็ง อย่างที่นนทบุรี กำหนดโครงสร้างพัฒนาจังหวัดว่า จะต้องมี 5 องค์ประกอบในการขับเคลื่อน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ  สภาเด็กและเยาวชนระดับจังหวัด / การให้ความสำคัญของผู้ใหญ่ ทำให้วันนี้สภาเด็กและเยาวชนจ.นนทบุรี กลายเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาค และยังเป็นศูนย์รวมกิจกรรมของเด็กทั้งในและนอกระบบ ที่สำคัญ ยังเป็นต้นแบบให้เกิดสภาขนาดเล็กกระจายในหลายชุมชน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง