เปรียบเทียบพรีเมียร์ลีก "ไทย-อังกฤษ"

กีฬา
18 ม.ค. 56
13:57
515
Logo Thai PBS
เปรียบเทียบพรีเมียร์ลีก "ไทย-อังกฤษ"

หากเทียบดูระหว่างโครงสร้างของบริษัทไทยพรีเมียร์ลีก กับพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ ค่อนข้างแตกต่างกัน เริ่มตั้งแต่วัตถุประสงค์การก่อตั้งบริษัทไทยพรีเมียร์ลีก ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพราะการกำหนดกฎ มาตรฐานของเอเอฟซีเพื่อให้เป็นอาชีพ ส่วนพรีเมียร์ลีกวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งเพื่อผลทางธุรกิจ

วัตถุประสงค์ของการเปลี่ยนรูปแบบการจัดการ และการบริหารของไทยพรีเมียร์ลีกแตกต่างจากฟุตบอลลีกอื่นในยุโรป ซึ่งส่วนใหญ่ปรับโครงสร้างเพื่อหวังผลทางธุรกิจ และการขายลิขสิทธิ์ และทำให้เกิดความนิยมไปทั่วโลกอย่างฟุตบอลในอังกฤษ ซึ่งในปี 1992 ทีมในดิวิชั่น 1 ถอนตัวออกมาตั้งพรีเมียร์ลีก เพื่อการเป็นอิสระจากสมาคมฟุตบอล หรือเอฟเอ

นับตั้งแต่ปี 1888 ดิวิชั่น 1 เป็นลีกสูงสุดของประเทศ แต่ในปี 1992 จำนวน 22 สโมสรที่เล่นในดิวิชั่น 1 ในขณะนั้นถอนตัวออกมาตั้งลีกใหม่ที่เรียกว่าพรีเมียร์ลีกเป็นลีกสูงสุดของประเทศ มีการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนโดยปลอดจากการแทรกแซงของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ

ซึ่งพรีเมียร์ลีกต้องการสิทธิ์ในการติดต่อกับบรรดาผู้สนับสนุนและเจรจาลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดโดยตรง การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทำให้พรีเมียร์ลีกทำเงินมหาศาลนับแต่นั้น จนถึงปัจจุบันพรีเมียร์ลีกทำสถิติมีรายได้จาการขายลิขสิทธิ์ฟุตบอลสูงที่สุดในโลกถึง 5,000 ล้านปอนด์ หรือ ประมาณ 250,000 ล้านบาท ในฤดูกาล 2013-2014 เป็นรองเพียงอเมริกันฟุตบอล เมเจอร์ลีกเบสบอล และบาสเกตบอลเอ็นบีเอ พรีเมียร์ลีกคืออุตสาหกรรมส่งออกของอังกฤษแขนงหนึ่งที่นำรายได้เข้าประเทศมหาศาล

ความพยายามในการขยายตลาดแฟนบอล และผู้ชม ทำให้ขณะนี้ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกได้รับความนิยมอย่างสูงใน 212 ประเทศ และมีถึง 643 ล้านครัวเรือนที่รับชมพรีเมียร์ลีกในเวลานี้ และคาดการณ์ว่าในอนาคตฟุตบอลพรีเมียร์ลีกมีสิทธิ์ครองสถิติลิขสิทธิ์แพงที่สุดในโลกจากกีฬาทุกประเภท

ปัจจุบัน พรีเมียร์ลีกมี 20 ทีม ซึ่งตัวแทนของแต่ละสโมสรมีส่วนในการบริหารในฐานะผู้ถือหุ้นร่วม โครงสร้างแบบนี้ทำให้ทุกทีมเกิดความร่วมมืออย่างจริงจังในการพัฒนาลีกให้แข็งแกร่ง เพราะยิ่งลีกได้รับความนิยม และขายลิขสิทธิ์ได้มากเท่าไหร่สโมสรจะได้ส่วนแบ่งกำไรมากขึ้นไปด้วย

โครงสร้างในการบริหารพรีเมียร์ลีกไม่ซับซ้อน ประกอบด้วย ประธานพรีเมียร์ลีก ประธานบริหาร และบอร์ดบริหาร โดยทั้ง 3 คน ถูกเลือกโดยตัวแทนของสโมสร ซึ่งแต่ละสโมสรมีเสียงเดียวในการลงคะแนนอย่างเท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ บรรดาตัวแทนยังมีหน้าที่ในการกำหนดกติกา และร่วมกันพิจารณาสัญญาต่างๆ ด้วย สำหรับสมาคมฟุตบอลอังกฤษสามารถใช้สิทธิ์คัดค้านในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง และการปรับเปลี่ยนกฎกติกาเท่านั้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง