คนสื่อเผย ผู้บริโภคยุคใหม่เป็นคนเลือกแพลตฟอร์ม จาก”เนื้อหา” ส่วนสถาบันการศึกษามีปัญหาป้อนทักษะ ”คนทำข่าว”

สังคม
19 ม.ค. 56
08:11
151
Logo Thai PBS
คนสื่อเผย ผู้บริโภคยุคใหม่เป็นคนเลือกแพลตฟอร์ม จาก”เนื้อหา” ส่วนสถาบันการศึกษามีปัญหาป้อนทักษะ ”คนทำข่าว”

คนทำสื่อ ระบุแข่งขันสูงทั้งเคเบิล และดาวเทียม ทั้งเนื้อหา โฆษณา และการวางตำแหน่งช่อง เพื่อวัดเรตติ้ง ส่วนสื่อท้องถิ่น ยังแข่งขันตัดราคาค่าโฆษณา ก่อนคิดพัฒนาแพลตฟอร์ม

 องค์กรวิชาชีพสื่อ เสวนาหัวข้อ “ทิศทางวารสาร ในยุคสงครามแพลตฟอร์ม” ในการประชุมสัมมนา “ยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์” ครั้งที่ 4 จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเนชั่น จ. ลำปาง

 
โดยนายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สงครามแพลตฟอร์ม ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือก หมดยุคการผูกขาดจบแล้ว หลัง กสทช.ออกใบอนุญาตโครงข่ายแบบไม่จำกัดจำนวน ทั้งนี้ คนทำแพลตฟอร์มจะมีที่ยืน แต่เทคโนโลยีกลายเป็นตัวคุกคาม ให้ต้องเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา อีกทั้ง กสทช. จะให้มีการใส่รหัสกล่องบริการเนื้อหา (set box) ไม่เป็นการออกอากาศฟรี ทู แอร์ (free to air) เพื้อทำให้ระบบ เปย์ เปอ วิว (Pay per View) เกิดและเติบโตได้ หากมีเนื้อหาเผยแพร่ที่ต้องใจผู้ชม
 
นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ตนเคยทำนายว่า กลุ่มสิ่งพิมพ์จะหันมาทำบรอดแคสติ้งมากขึ้น  โดยคนอ่านต้องการบริโภคข้อมูลในหลายๆ แพลตฟอร์ม ซึ่งองค์กรสื่อมีการปรับตัวสูง เป็นมัลติ แพลตฟอร์ม (Multi Platform) จากรายได้สิ่งพิมพ์ที่หดตัวลง โดยมีการกระจายงบประมาณในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ใน 6 ช่องฟรีทีวี นับหมื่นล้านบาทก็ถูกปันไปยังเคเบิล และสื่อแพลตฟอร์มอื่นๆ มากขึ้น เพราะเป็นแหล่งรายได้ใหญ่และเพิ่มจำนวนมากขึ้น
 
นางสาวเสริมศิริ นิลดำ รองคณบดี คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย กล่าวถึงปรากฎการณ์ของแพลตฟอร์มยุคนี้ว่า ช่วง 2-3 ปีนี้มีการปรับหลักสูตร เพื่อจะป้อนคนทำงานในวงการสื่อมวลชน สิ่งที่เป็นปัญหา วิชาชีพสื่อต้องการทักษะ นอกจากมัลติแพลตฟอร์ม ยังมีทักษะอื่นๆ แต่สิ่งสำคัญ ทำอย่างไรให้ความคิดของนักศึกษาเปลี่ยนไปด้วย ให้มีการคิดแบบองค์รวม ไม่คิดแยกส่วนเช่นที่ผ่านมา เป็นเรื่องยากในการปรับเปลี่ยนความคิด ขณะเดียวกันต้องเรียนรู้ เรื่องอุปนิสัยของสื่อมวลชน ที่จะมีความตื่นตัว แลกเปลี่ยนความคิดการเรียนรู้กับผู้บริโภค ขณะนี้อารมณ์ ความรู้สึกของคนรุ่นใหม่มีการบริหารอารมณ์และเหตุผลน้อยลงมาก
 
นายวิชิต เอื้ออารีวรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญเคเบิลทีวี กล่าวว่า  ผู้บริโภคปัจจุบันที่เลือกติดตั้ง set box เป็นการเลือกดูแพลตฟอร์ม จากรายการต่างๆ  แพลตฟอร์มเกิดจากนายทุน เพื่อตอบโจทย์โฆษณา เช่น กล่องจีเอ็มเอ็มแซด ของแกรมมี่ ทั้งนี้มีผลวิจัย การเรียงลำดับช่องในระบบเคเบิล และดาวเทียมว่า 20 ช่องแรกต่อจากฟรีทีวี 6 ช่อง มีการวัดเรตติ้งที่สูง และเป็นพื้นที่ราคาแพง ต้องจ่ายเงินให้ผู้ประกอบการ เนื่องจากมีโฆษณาเข้ามา จากการวัดเรตติ้งของกลุ่มบริษัท เอเยนซี่ ซึ่งแพลตฟอร์มดาวเทียมและเคเบิล เป็นทั้งคู่แข่งและคู่ธุรกิจร่วมกัน
 
นายวิชิต กล่าวว่า เมื่อตนทำช่องข่าวท้องถิ่น ในการรับคนเข้าทำงานใหม่ สถาบันการศึกษาตนเห็นว่า ผลิตเพื่อป้อนคนทำงานช่อง 3 ขณะที่ 200 ช่องเคเบิล ยังเป็นปัญหาของนักศึกษารุ่นใหม่ที่ยังไม่เปิดรับ ตนจึงเห็นว่า คนทำงานในธุรกิจเคเบิล จะเป็นบันไดให้กับคนจบใหม่ที่ทำงานมีประสบการณ์ ก้าวต่อไปยังบรอดแคสที่ติดอันดับ ดังนั้น เสนอให้สถาบันการศึกษาสอนนักศึกษาให้ทำได้หลายอย่าง เพื่อสนองแพลตฟอร์มที่หลากหลาย จากความต้องการที่ให้คนสื่อทำได้หลายอย่างนั้นเอง
 
นางสาววริษฐา ภักดี บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์ลานนา โพสต์ กล่าวถึงการเติบโตของสื่อสิ่งพิมพ์ท้องถิ่นว่า การแข่งขันในจ.ลำปาง มีค่อนข้างสูง เพราะหัวหนังสือพิมพ์ในจังหวัดมีมากกว่า 10 ฉบับ ส่วนใหญ่เป็นรายสัปดาห์ แม้ต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง ที่ผ่านมา คนทำหนังสือพิมพ์มักมีธุรกิจคู่ขนานรองรับ เพื่อสนับสนุนสิ่งพิมพ์ให้คงอยู่ได้ การมีบุคลากรจำนวนมากย่อมทำให้ต้นทุนสูง จึงไม่คุ้มค่าการบริหารจัดการในสมัยปัจจุบัน
 
นางสาววริษฐา กล่าวว่า การเติบโตของสื่อท้องถิ่น ก่อนจะปรับและพัฒนาแพลตฟอร์ม ต้องต่อสู้เรื่องของการตัดราคาค่าโฆษณา ให้สามารถอยู่รอด และช่วยกันกำหนดราคาโฆษณาในสื่อได้
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง