วิเคราะห์ผลกระทบ หลังรัฐบาลปรับขึ้นค่าเเรง 300 บ.

สังคม
19 ม.ค. 56
14:04
71
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ผลกระทบ หลังรัฐบาลปรับขึ้นค่าเเรง 300 บ.

เเม้ว่าขณะนี้ จะยังไม่มีข้อมูลชัดเจนยืนยันว่า นโยบายการปรับขึ้นค่าเเรงขั้นต่ำ 300 บาท เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สถานประกอบการหลายเเห่งปิดกิจการลง แต่จากการสำรวจตัวเลขการว่างงานและปัจจัยที่เกิดขึ้นทางเศรษฐกิจ ที่ศึกษาโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระบุชัดเจนว่า การปิดกิจการมาจากหลายปัจจัย และเร็วเกินไปที่จะสรปุว่ามาจากการปรับขึ้นค่าจ้าง 300บาท

การปิดกิจการของสถานประกอบการหรือโรงงานหลายแห่งในขณะนี้ ถูกโยงเป็นเรื่องของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ที่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ เพราะมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า สาเหตุที่แท้จริงของการปิดกิจการมาจากนโยบายปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทจริงหรือไม่ หรือว่ามีสาเหตุมาจากปัจจัยอย่างอื่น

แม้ก่อนหน้านี้ รัฐบาลจะออกมายืนยันว่า การปิดกิจการมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการขาดสภาพคล่องของสถานประกอบการเองเนื่องจากวิกฤตการเงินของสหภาพยุโรป รวมถึงผลกระทบจากอุทกภัยปลายปี 2554 การปรับขึ้น 300 บาทจึงไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้ปิดกิจการในขณะนี้

นักวิชาการด้านการพัฒนาสังคม วิเคราะห์ว่า อาจเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าหลายบริษัทที่ปิดกิจการลงก่อนหน้านี้ มาจากการปรับขึ้นค่าเเรง เพราะจากศึกษาวิจัยผลกระทบจากการขึ้นค่าเเรงครั้งเเรกใน 7 จังหวัดนำร่อง เมื่อช่วงเดือนเมษายนปีที่เเล้ว พบว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นรวมถึงสถิติเลิกจ้างงานมีน้อยมาก จึงเชื่อว่าการปรับขึ้นค่าเเรงครั้งนี้จะส่งผลดีกับทุกฝ่าย

มุมกลับกันผลดีของการปรับขึ้นค่าจ้างครั้งนี้ จะทำให้พนักงานของเเต่ละบริษัทได้ฝึกฝนทักษะ เเละพัฒนาฝีมือการทำงานให้มีศักยภาพมากขึ้น ซึ่งนักวิชาการด้านเเรงงาน มองว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมในอนาคต เเละยังเห็นด้วยกับการที่รัฐบาล ที่เเบ่งช่วงการปรับขึ้นค่าเเรงออกเป็น 2 ระยะ เพราะจะทำให้สถานประกอบการส่วนใหญ่ มีเวลาปรับตัวมากขึ้น สอดคล้องกับความเห็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเเรงงาน ที่ยืนยันว่า การปรับขึ้นค่าเเรงครั้งนี้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะก่อนหน้านี้ได้เเจ้งเเละให้เวลาผู้ประกอบการ เตรียมตัวสอดรับนโยบายมาเเล้วถึง 1 ปีเต็ม

ข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์ การเลิกจ้างงานตั้งเเต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม ปี 2555 ของกรมสวัสดิการเเละคุ้มครองเเรงงาน ระบุว่า มีสถานประกอบการปิดกิจการถึง 76 เเห่ง ส่งผลให้พนักงานถูกเลิกจ้างมากถึง 10,696 คน นอกจากนี้ ยังมีสถานประกอบการอีก 39 เเห่ง ที่มีเเนวโน้มว่าในปีนี้ อาจต้องปิดกิจการเพิ่มเติมอีก สำหรับพื้นที่ที่เลิกจ้างมากที่สุด คือจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมในพื้นที่ คือ จังหวัดสระบุรี รองลงมาคือ พระนครศรีอยุธยา

อย่างไรก็ตามกระทรวงเเรงงาน ได้มีมาตรการเพิ่มเติมจากกระทรวงการคลังอีก 5 มาตรการ รวมถึงมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ซึ่งรวมอยู่ใน 16 โครงการของกระทรวงเเรงงาน ที่จะคอยให้การช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังมีถึง 3 มาตรการ ที่ให้การช่วยเหลือด้านภาษี เเละระบบสินเชื่อกับผู้ประกอบการโดยตรง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง