สำนักจุฬาราชมนตรีและผู้นำศาสนาเรียกร้องกฎดันรัฐบาลพม่าให้ยอมรับโรฮิงยา

20 ม.ค. 56
15:29
55
Logo Thai PBS
สำนักจุฬาราชมนตรีและผู้นำศาสนาเรียกร้องกฎดันรัฐบาลพม่าให้ยอมรับโรฮิงยา

การที่รัฐบาลไม่มีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะผลักดันชาวโรฮิงยากลับประเทศต้นทาง หรือ ส่งต่อไปยังประเทศที่สาม ทำให้ภาระการดูแลตกอยู่กับหน่วยงานในพื้นที่ ขณะที่สำนักจุฬาราชมนตรีและผู้นำศาสนาเรียกร้องให้มุสลิมทั่วโลกเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลพม่าเพื่อให้ยอมรับความเป็นเมืองพม่าของชาวโรฮิงยา

ชาวมุสลิมสัญชาติพม่า หรือชาวโรฮิงยาซึ่ งเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวได้ในจังหวัดสงขลา, จังหวัดสตูล และจังหวัดพังงารวมกว่า 1,000 คน สะท้อนให้เห็นว่าการดูแลผู้ลักลอบเข้าเมืองในประเทศไทยยังมีช่องว่าง และเป็นช่องทางให้เกิดขบวนการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลามีมากถึง 4 กลุ่มใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยนักการเมืองท้องถิ่น, ผู้มีอิทธิพลซึ่งเป็นเจ้าของบ่อนการพนัน, เจ้าหน้าที่รัฐ และนายหน้าค้าแรงงานข้ามชาติชาวพม่า โดยทั้งหมดเชื่อมโยงกับนายหน้าค้ามนุษย์รายใหญ่สุดของประเทศซึ่งอยู่ที่จังหวัดระนอง รู้จักกันในนามนุกนิก

สำหรับชาวโรฮิงยา เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม ที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า ความขัดแย้งด้านเชื้อชาติ และการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ทำให้พวกเขาตัดสินใจหลบหนีออกนอกประเทศ เพื่อหาที่พักพิงใหม่ แต่ท้ายสุดกลับตกไปอยู่ในในเงื้อมมือขบวนการค้ามนุษย์

ขบวนการค้ามนุษย์จะนำชาวโรฮิงญาออกจากประเทศพม่าผ่าน 2 เส้นหลักคือนำไปลงเรือที่ประเทศบังกลาเทศ และการเดินทางลงเรือที่รัฐยะไข่โดยตรง จากนั้นจะนั่งเรือมายังหมู่เกาะในทะเลอันดามันของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ของจังหวัดระนอง ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางขบวนการค้ามนุษย์ ก่อนที่จะส่งชาวโรฮิงยาไปเป็นแรงงานทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในแถบภูมิภาคอาเซียน

องค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชนเสนอให้ภาครัฐเปิดโอกาสองค์การสหประชาชาติในเอเชีย เข้ามาตรวจสอบชาวโรฮิงยา เพื่อคัดกรองว่าเป็นกลุ่มผู้อพยพจริงหรือไม่ และต้องการความช่วยเหลือในลักษณะใด

ประชาชาติมุสลิมดุจดังเรือนร่างเดียวกัน ความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงยา ทำให้สำนักจุฬาราชมนตรีและผู้นำศาสนาอิสลาม เรียกร้องให้มุสลิมทั่วโลกเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลพม่าให้ยอมรับความเป็นพลเมืองพม่าของชาวโรฮิงยาและปฎิบัติต่อชาวโรฮิงยาเฉกเช่นชาติพันธุ์อื่นๆ โรฮิงยาไร้รัฐ ไร้ที่พึ่งพิง ในขณะที่ประเทศไทยยังขาดแคลนแรงงาน ดังนั้นควรพลิกวิฤติให้เป็นโอกาส เปิดช่องทางพิเศษให้โรฮิงยา สามารถพักพิงทำงานในประเทศไทย

ในขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้กระจายการดูแลชาวโรฮิงยาไปยังหลายจุดในภาคใต้ เพื่อลดความแออัด ซึ่งรองผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า ไทยไม่ควรจัดตั้งศูนย์อพยพเพราะจะเป็นภาระด้านงบประมาณ อีกทั้งในช่วงเวลาอันใกล้ก็จะเปิดเป็นประชาคมอาเซียน จึงควรใช้กลไกความร่วมมือด้านเศรษฐกิจให้ผู้คนไร้รัฐเหล่านี้ได้มีที่พึ่งพิง โดยพึ่งพาตัวเองด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง