สป. ดันทุกภาคส่วนทำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน"เศรษฐกิจพอเพียง" 2ทศวรรษ

ภูมิภาค
21 ม.ค. 56
01:41
1,652
Logo Thai PBS
สป. ดันทุกภาคส่วนทำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน"เศรษฐกิจพอเพียง" 2ทศวรรษ

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป) สัมมนาระดับภูมิภาค (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เรื่อง “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ 2 ทศวรรษหน้า” เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริง ปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัด รวมทั้งสาเหตุของปัญหาและผลกระทบด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้และการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จากองค์กรในภาคส่วนต่างๆ และเป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางและการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในสองทศวรรษหน้า

 โดย นางภรณี ลีนุตพงษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ในการจัดงานในครั้งนี้ว่า สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ความสำคัญกับการเป็นองค์กรสะท้อนปัญหา ตลอดจนเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคประชาชนสู่รัฐบาล จึงได้ดำเนินการจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นเรื่องดังกล่าว เพื่อเปิดโอกาสและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม ในการร่วมกำหนดทิศทางนโยบายหรือยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

 
การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนจะต้องยึดแนวคิดการพัฒนาแบบบูรณาการเป็นองค์รวมที่มีคนเป็นศูนย์กลางพัฒนา มีการเชื่อมโยงทุกมิติของการพัฒนาอย่างบูรณาการ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้พร้อมเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมในกระบวนการพัฒนาประเทศ
 
พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุก องคมนตรี เปิดสัมมนาและกล่าวว่า กระแสโลกาภิวัตน์ได้เข้ามากระทบประเทศไทยอย่างมากจนทำให้เราต้องประสบกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรงเมื่อปี 2540 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ให้แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเป็นแนวทางในการบรรเทาและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ ก็ได้ร่วมกันขยายผลและขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่นั้น แต่ปัญหาสำคัญคือบางครั้ง ไม่ได้ศึกษาให้เกิดความเข้าใจอย่างท่องแท้และนำหลักการไปปฏิบัติอย่างแท้จริง จึงอยากให้มีการขยายผลและปฏิบัติอย่างจริงจัง 
 
ทั้งนี้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นเกราะป้องกันผลกระทบจากวิกฤตต่างๆ ไม่ให้เกิดขึ้นเหมือนในประเทศอื่นๆ แม้แต่ประเทศภูฏานก็ได้ส่งคนมาเรียนรู้เพิ่มเติม เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศด้วย ทั้งนี้อยากให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาและเชื่อมโยงในทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การเมือง ตั้งแต่ระดับบุคล ครอบครัว จนถึงระดับประเทศชาติ 
 
นายดำริห์ สุตเตมีย์ อธิบดีศาลปกครองกลาง กล่าวว่า หากถามว่าหน่วยงานศาลเกี่ยวข้องอย่างไรต่อการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็ต้องตอบว่าศาลเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้ความเป็นธรรมตามกฎหมาย หรือบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล เมื่อมีผู้ร้องเรียนในกรณีที่เกิดข้อพิพาทจากหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ได้รับความเดือดร้อน เช่น กรณีปัญหาห้วยคลิตี้ ที่ประชาชนในพื้นที่ได้รับอันตรายจากสารตะกั่วที่เกิดจากการใช้น้ำในลำห้วย ซึ่งรั่วไหลมาจากหางแร่จากโรงแต่งแร่ของบริษัทตะกั่ว คอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด แม้กรมควบคุมมลพิษจะยืนยันว่า น้ำในลำห้วยจะอุปโภคบริโภคได้ 
 
แต่ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของชาวบ้านก็แปลกมากขึ้นและไม่ทราบสาเหตุ เช่น แท้งลูกกันหลายคน เด็กๆ โตมาปัญญาอ่อน อยู่ดีๆ ก็ตาบอด ชาตามแขนขา เจ็บข้อ ปวดหัว ปวดท้อง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนเกิดมาจากสารตะกั่วที่เจือปนมาในน้ำทั้งสิ้น จึงเกิดการฟ้องร้องศาลปกครองเพื่อเรียกร้องให้รัฐชดเชยความเสียหายต่อกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับมิให้โรงงานดังกล่าวลักลอบปล่อยสารตะกั่วลงในน้ำ ซึ่งจะเห็นได้ว่าหากได้มีการนำหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่องของเหตุผลและคุณธรรมมาประยุกต์ใช้ ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น
 
นายดนุชา สินธวานนท์ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษ (กปร.) ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ว่า การขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ไม่ว่าผลสัมฤทธิ์จะออกมาในรูปแบใดหรือมีความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ไม่สำคัญเท่าการลงมือทำ และทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน หากไม่ร่วมมือกันแล้ว ในอนาคตการจะขับเคลื่อนประเทศก็จะเป็นไปด้วยความลำบาก เช่นการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อาจจะทำได้ไม่ดีพอ หากขาดภูมิคุ้มกันในด้านนี้ รวมถึงต้องระมัดระวังการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติ เพราะอาจทำให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกลายเป็นอย่างอื่น อาจผิดวัตถุประสงค์เดิมเพราะขาดความรู้ความเข้าใจที่มากพอ 
 
ศาสตราจารย์ ดร.ณัฎฐพงศ์ ทองภักดี ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจพอเพียง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญกับความเสี่ยงที่หลากหลาย ทั้งกระแสโลกาภิวัตน์ ที่ทำให้เกิดความผันผวนมากขึ้น เกิดกระแสบริโภคนิยมมากขึ้น ความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้ การขยายตัวที่ไม่ยั่งยืนจากความสามารถในการแข่งขันลดลง รวมถึงความขัดแย้งในสังคม และการดำเนินนโยบายด้านต่างๆ ที่เป็นไปอย่างไม่ราบลื่น 
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในสองทศวรรษหน้านั้น ที่จะทำให้เกิดความอยู่ดีมีสุข นำไปสู่ความสมดุลและยั่งยืน และรับกับการเปลี่ยนแปลงได้ มีหลักที่เรียกว่า 3 ห่วง 2 เงื่อนไข หลักสามห่วง คือ หนึ่ง มีความพอประมาณ สอง มีเหตุมีผล สาม มีภูมิคุ้มกันในตัวเองที่ดี ส่วนสองเงื่อนไขคือ หนึ่ง มีความรู้ และสอง มีคุณธรรม การยึดหลักปรัชญาตามแนวพระราชทานสามารถใช้เป็นฐานยุทธศาสตร์ได้ทุกด้าน 
 
จากการสำรวจเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) พบว่าทุกภาคส่วนรู้จักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประชาชนรู้จักการประหยัดอดออม และมีการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ก็ยังมีประชาชนส่วนน้อยที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจและไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการประชาสัมพันธ์แนวปรัชญาให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติใช้ในชีวิตได้ทุกภาคส่วน
 
ดร.ส่งเกียรติ ทามสัมฤทธิ์ กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิพลังงานที่ยั่งยืน กล่าวเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน ว่า มนุษย์กำลังเข้าสู่ยุคสมัยของข้อจำกัดทางทรัพยากรธรรมชาติ โลกมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรมากขึ้น  การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักการบริหารทุกภาคส่วนนั้น จึงมีความสำคัญอย่างมีเหตุมีผล ที่ผ่านมาในภาคธุรกิจมีการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เน้นการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและประหยัดทรัพยากรมากขึ้น เช่น การทำน้ำมันไร้สารตะกั่ว การผลิตน้ำมาจากสาหร่าย และการทำไบโอพลาสติกหรือการรีไซเคิลวัสดุใช้แล้ว ซึ่งสามารถนำมาผลิตเป็นวัสดุอุปกรณ์ในภาคอุตสาหกรรมได้ เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น และการตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะสามารถนำวัสดุที่รีไซเคิลแล้วมาทำเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ให้ได้100%ในอนาคต
ด้านนายมาร์ติน วีเลอร์ ปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นชาวอังกฤษที่มาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยกว่า 20 ปี กล่าวว่า ตอนที่มาเมืองไทยใหม่ๆ ก็กลัวว่าจะลำบากและเดือดร้อน เพราะที่ประเทศอังกฤษนั้น การดำรงชีวิตอยู่ได้นั้น จะพึ่งพาเงินและรัฐบาลเป็นหลัก แต่เมื่อมาอยู่ที่เมืองไทยแล้ว แม้ว่าจะไม่มีเงินทอง หรือไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่ก็สามารถพึ่งพาตนเองได้ เนื่องจากหมู่บ้านที่ตนมาอยู่นั้น ชาวบ้านในชุมชนมีความพึงพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ พออยู่พอกิน และพึ่งพาอาศัยกัน ดังนั้นยุทธศาสตร์ที่จะใช้ขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงควรให้ความสำคัญกับชุมชน สร้างความรู้ความเข้าใจ ให้เกิดการยอมรับและพึ่งพาตนเอง ตลอดจนสร้างสิ่งที่มีอยู่ให้สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองและมีความสุขในสิ่งที่เป็น
นายบุญเต็ม ชัยลา ปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดขอนแก่น เกษตรกรผู้เคยล้มเหลวจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวเพียงอย่างเดียว ชีวิตต้องตกอยู่ในความทุกข์ของวังวนหนี้สิน เพียงเพราะหวังที่จะรวย และมองเงินเป็นต้นทุนเพียงอย่างเดียว จนลืมคิดไปว่าแท้ที่จริงแล้วตนนั้นมีที่ดินและเรี่ยวแรงของตัวเองเป็นทุน จึงนำศาสตร์พระราชา มาเป็นแนวทางและกำหนดแบบแผนในการใช้ชีวิต จึงสามารถปลดหนี้สินทั้งหมดได้ในเวลาไม่ถึง 10 ปี กล่าวว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมอบเป็นแนวทางให้กับทุกคน เป็นเสมือนสิ่งสำเร็จรูปที่ทำได้ง่าย และใครก็ทำได้ ซึ่งเศรษฐกิจพอเพียงคนทั่วไปมักเข้าใจว่าจะต้องเป็นเกษตรกร ชาวนาจึงเป็นเศรษฐกิจพอเพียง 
 
แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ในภาคของเขาก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียงได้ด้วยการทำมาหากินด้วยความซื่อสัตย์สุจริตไม่คดโกงใคร ไม่เบียดเบียนคนอื่น พึ่งพาอาศัยกัน ตรงนี้ก็คือวิธีการของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างหนึ่ง อีกอย่างเมื่อเราหามาได้แล้ว เราต้องรู้จักความพอเพียง ไม่ใช่หาได้เยอะก็ใช้เยอะ หรือเอาไปใช้ในเรื่องอบายมุขต่างๆ เชื่อว่าศาสตร์ของพระราชาหากใครได้นำไปปฏิบัติแล้วก็จะทำให้ผู้นั้นประสบความสำเร็จทั้งในชีวิตและการงาน และสามารถแก้วิกฤตต่างๆ ได้จริง          

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง