เกษตรฯตรวจเข้ม“ส้ม” นำเข้าจากจีน รับตรุษจีน แยก"ใบส้ม" คุมโรค - ขยะต้องกำจัดเพิ่ม

สิ่งแวดล้อม
21 ม.ค. 56
02:05
253
Logo Thai PBS
เกษตรฯตรวจเข้ม“ส้ม” นำเข้าจากจีน รับตรุษจีน แยก"ใบส้ม" คุมโรค - ขยะต้องกำจัดเพิ่ม

กรมวิชาการเกษตร เน้นด่านตรวจพืชคุมเข้มสินค้า “ส้มนำเข้า” รับเทศกาลตรุษจีน คาดการณ์ทะลักตีตลาดอื้อ ดึงศุลกากรเสริมทัพ กำชับเจ้าหน้าที่เอาจริง พร้อมสั่งฟันผู้ไม่ปฏิบัติตามพิธีสารฯไทย-จีน ปกป้องแหล่งปลูกส้มในประเทศ

 นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการนำเข้าสินค้าส้มจากสาธารณรัฐประชาชนจีนปริมาณมาก เพื่อรองรับความต้องการของตลาดและผู้บริโภคภายในประเทศช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยเฉพาะด่านตรวจพืชแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี และด่านตรวจพืชเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีการนำเข้าส้มเฉลี่ยวันละ ประมาณ 55 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือประมาณ 1,320 ตัน มูลค่า ประมาณ 38.5 ล้านบาท ปริมาณการนำเข้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เกรงว่าอาจมีสินค้าส้มมีใบเล็ดลอดติดมาด้วย กรมวิชาการเกษตรจึงให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชทุกแห่งเพิ่มมาตรการควบคุมการนำเข้าสินค้าส้มเข้มงวดมากขึ้น เพื่อป้องกันการนำเข้าที่ไม่เป็นไปตามพิธีสารฯ ภายใต้กรอบความร่วมมือด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช(Sanitary and Phytosanitary Measures : SPS)ระหว่างไทย-จีน เพื่อช่วยปกป้องแหล่งปลูกส้มของไทยจากโรคและศัตรูพืชกักกันที่อาจติดมาด้วย เช่น โรคแคงเคอร์ และแมลงวันผลไม้ 

 
เบื้องต้นได้กำชับให้ด่านตรวจพืชเพิ่มปริมาณการสุ่มตรวจสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ 70-100 % กระจายทั่วทั้งตู้ หากพบใบติดมากับผลส้มจะให้ผู้นำเข้าทำการคัดแยกใบออก โดยผู้นำเข้าต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด และต้องเผาทำลายใบส้มทิ้งก่อนปล่อยสินค้าเข้าสู่ห้องเย็นและท้องตลาด ซึ่งเจ้าหน้าที่จะบันทึกข้อมูลผลการตรวจเพื่อแจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการนำเข้าทราบ และถูกขึ้นบัญชีสำหรับการนำเข้าครั้งถัดไปจะถูกตรวจสอบเข้มงวดยิ่งขึ้น กรณีตรวจพบว่า มีโรคและแมลงศัตรูพืชกักกันติดมากับส้ม จะตีกลับสินค้าตู้ดังกล่าวทันทีหรือเผาทำลาย ผู้นำเข้าที่มีประวัติการตรวจพบโรคและแมลงศัตรูพืช รวมทั้งไม่เป็นไปตามข้อตกลงพิธีสารฯจะถูกสุ่มตรวจมากขึ้นในการนำเข้ารอบถัดไปด้วย 
 
“ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรได้ขอความร่วมมือผู้นำเข้าส้มจากจีนเร่งแก้ไขปัญหาส้มมีใบติดมา ทำให้ปัญหาดังกล่าวลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ที่หลุดลอดเข้ามาได้ก็เพราะยังมีการตบตาเจ้าหน้าที่โดยการลักลอบซุกซ่อนไว้ท้ายตู้ ทำให้ยากต่อการตรวจสอบและตรวจไม่พบ ขณะเดียวกันการนำเข้าส้มโดยตัวแทนผู้นำเข้าหรือชิปปิ้ง(Shipping) เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้มีใบส้มติดมาผลส้ม ภายหลังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรในการตรวจสอบทำให้ปัญหานี้ลดน้อยลงมาก” นายดำรงค์กล่าว
 
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า ขอความร่วมมือผู้ประกอบการห้องเย็นและห้างสรรพสินค้าให้ตรวจสอบแบบ พ.ก. 6  ที่กำกับมากับสินค้าพืช  หากไม่มีแบบ พ.ก. 6 แสดงว่าสินค้านั้นลักลอบนำเข้าหรือนำเข้าไม่ถูกต้องตาม พรบ.กักพืช ห้องเย็นไม่ควรรับฝากไว้ในหรือนำมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภค ทั้งยังได้ร่วมมือกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เข้าตรวจสอบห้องเย็นรับฝากสินค้าและรถบรรทุกสินค้าด้วย อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตรได้เร่งแจ้งทูตเกษตรประจำกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ให้ทราบถึงข้อมูลปัญหาการส่งออกส้มที่ไม่ปฏิบัติตามพิธีสารฯจากจีน เพื่อใช้เป็นกรอบในการเจรจาความร่วมมือด้านสุขอนามัยพืชระหว่างไทย-จีนต่อไป
 
“การที่ผู้ประกอบการของจีนต้องคัดแยกใบส้มออกก่อนส่งออกมายังไทย ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ประมาณ 30,000-40,000 บาท/ตู้คอนเทนเนอร์ แต่การคัดแยกใบส้มออกที่ด่านตรวจพืชของไทย เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 15,000-20,000 บาท/ตู้คอนเทนเนอร์ ประกอบกับความนิยมของคนไทยที่มักเลือกซื้อส้มที่มีใบติดอยู่เพราะมองว่าเป็นสินค้าสดและใหม่ เป็นแรงผลักดันให้มีการลักลอบส่งออกผลส้มมีใบมายังประเทศไทยเพื่อดึงดูดใจลูกค้า ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรตระหนักในการเลือกซื้อส้มและไม่ควรซื้อส้มมีใบ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาได้” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง