กรรมการที่ "ขาดความรับผิดชอบ" ตอนที่ 1

21 ม.ค. 56
08:26
70
Logo Thai PBS
กรรมการที่ "ขาดความรับผิดชอบ" ตอนที่ 1

ดร. วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

 ช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมามักจะได้ยินเสียงบ่นเรื่อง เว็บไซด์ของประกันสังคมล่ม ฐานข้อมูลใช้งานไม่ได้ ซึ่งก็น่าจะเป็นปัญหาต่อการบริหารจัดการระบบประกันสังคมและกระทบต่อผู้ประกันตน

 
ปัญหาที่ผู้ประกันตนสัมผัสได้ในระยะสั้นนี้ เป็นแค่ “ของโชว์หน้าร้าน” เท่านั้น ข้างในร้านมีปัญหากองให้ดูอีกมากมาย มีทั้งปัญหาระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว แล้วแต่จะเลือก
ปัญหาที่กองอยู่ในร้านส่วนหนึ่งและส่วนใหญ่มาจาก “คณะกรรมการประกันสังคม” ที่ขาดความสามารถ ขาดความรับผิดชอบต่อผู้ประกันตน และขาดจริยธรรม คณะกรรมการทุกท่านอาจจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างนี้ และคณะกรรมการบางท่านอาจจะขาดครบทั้งสามอย่างก็เป็นได้ ซึ่งเราประเมินได้จากคำพูดของอดีตเลขาฯ ประกันสังคมท่านหนึ่งที่เคยให้สัมภาษณ์ว่า “เวลายกมือไหว้บางคนยังต้องเก็บนิ้วไว้หนึ่งนิ้วเลย”
 
คณะกรรมการประกันสังคม ควรเป็นผู้ที่มีเกียรติและควรได้รับเกียรติตอบแทน เพราะเขาดูแลตัดสินความอยู่ดีมีสุขของคนไทยกว่า 10 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานของประเทศ แต่แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร โปรดพิจารณา
 
ตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม ได้กำหนดให้คณะกรรมการประกันสังคม มาจากภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 ท่าน และรัฐมนตรีสามารถตั้งที่ปรึกษาได้อีก 5 ท่าน 
 
ถ้าคำนวณสัดส่วนกรรมการฝ่ายลูกจ้างต่อจำนวนผู้ประกันตน พบว่ากรรมการฝ่ายลูกจ้างหนึ่งคนเป็นตัวแทนของผู้ประกันตน 2 ล้านคน สัดส่วนความรับผิดชอบต่อหัวของกรรมการฝ่ายลูกจ้างนั้นมากเกินกว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยซ้ำ 
 
คณะกรรมการที่มาจากภาครัฐมีปลัดกระทรวงแรงงาน เลขาสำนักงานประกันสังคม และผู้แทนจากกระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงบประมาณ ตามมารยาทของข้าราชการไทย มักเป็นว่าผู้แทนนอกกระทรวงแรงงานมักไม่อยากก้าวก่ายหรือขัดแข้งขัดขาการทำงานของสำนักงานประกันสังคมซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงแรงงาน การที่ผู้ประกันตนหวังพึ่งผู้แทนนอกกระทรวงว่าจะมีการถ่วงดุลระหว่างกระทรวงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ประกันตนก็เป็นไปได้น้อยมาก
 
ส่วนการคัดเลือกกรรมการฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ก็มีจุดอ่อนหลายประการ
 
ประการแรก กฎหมายมิได้กำหนดคุณสมบัติของกรรมการที่เป็นผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้างและผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งต่างจาก พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ที่จะกำหนดให้ผู้ทรงคุณวุฒิมาจากการคัดเลือกของประธานและกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่เป็นบุคคลซึ่งทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐอื่นไล่ออก ปลดออก ให้ออก หรือเลิกจ้างเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่าทุจริตต่อหน้าที่ และต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือกรรมการหรือที่ปรึกษาหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง
 
ประการที่สอง กฎหมายให้อำนาจรัฐมนตรีในการคัดเลือกผู้แทนทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างโดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และ โปร่งใส ทำให้ที่ผ่านมาผู้แทนฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างจำนวนหนึ่ง ขาดความรู้ความสามารถที่จะมาทำหน้าที่กรรมการได้ตามที่กฎหมายกำหนด 
ประการที่สาม  ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างยังเป็นคนเดิมๆ ผู้แทนบางท่านได้เป็นกรรมการถึง 3 วาระติดต่อกันซึ่งผิดต่อมาตรา 10 ของพ.ร.บ. ประกันสังคม ที่กล่าวว่ากรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจะได้รับการแต่งตั้งอีกเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้ 
 
ในช่วงปี 2533-2553 มีกรรมการส่วนนายจ้าง ลูกจ้างและที่ปรึกษา ที่กระทำผิดกฎหมายนี้จำนวน 9 ท่านด้วยกัน  
 
นอกจากนี้ วาระของคณะกรรมการชุดที่ 9 ก็มีเวลาเกิน 2 ปี (20 ก.พ. 49 – 9 มิ.ย. 52) ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และผู้แทนบางท่านยังเป็นผู้ลงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 
ดร. อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ผู้แทนเหล่านี้ สามารถดำรงตำแหน่งได้อย่างยาวนานนั้น เป็นเพราะว่าผู้แทนเหล่านี้สามารถยึดกุมการนำในสภาองค์การลูกจ้าง ‘ขนาดใหญ่’ ได้อย่างเหนียวแน่น 
 
ในขณะที่สำนักงานประกันสังคมยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติที่เชื่อมโยงกับ พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ที่นับว่าสภาองค์การลูกจ้าง เท่านั้นที่เป็นตัวแทนผู้ใช้แรงงานที่ ‘ชอบธรรม’ ในระดับชาติของขบวนการแรงงานทั้งประเทศ เมื่อ สปส. ยึดติดว่าผู้นำจากสภาองค์การฯ เท่านั้นที่เป็นตัวแทนแท้จริงของแรงงานไทย ทำให้ สปส. มีตัวบุคคลที่จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกเข้าเป็นกรรมการไตรภาคีน้อยมาก ด้วยทางเลือกที่จำกัดเช่นนี้เองที่อาจทำให้ตัวแทนแรงงานในกรรมการไตรภาคีของ สปส. มีคุณภาพที่จำกัด ทั้งในแง่ความรู้ ความสามารถ และความโปร่งใสในแง่ผลประโยชน์ส่วนบุคคล  
 
ในปัจจุบันตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง เป็นแค่ตัวแทนของผู้ใช้แรงงานภาคเอกชนไม่เกิน 3 แสนคนที่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน ซึ่งคิดเป็น 3% ของผู้ประกันตนเท่านั้น 
 
และยังไม่นับปัญหาที่สภาองค์การลูกจ้าง ‘ขนาดใหญ่’ หลายแห่งต่างประสบกับข้อกล่าวหาว่า มีสมาชิกที่เป็นสหภาพแรงงาน ‘กระดาษ’ จำนวนมาก 
 
สภาองค์กรนายจ้างบางสภาก็เข้าข่ายเป็นสภากระดาษในลักษณะเดียวกัน
 
ในปี พ.ศ. 2552 กระทรวงแรงงานได้ประกาศระเบียบเกี่ยวกับการคัดเลือกตัวแทนลูกจ้างในคณะกรรมการไตรภาคีของภาครัฐ โดยให้มีการเลือกตั้ง แต่ผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งก็ต้องเป็นสมาชิกสหภาพ หรือสภา ตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์เช่นเดิม ในที่สุดแล้วเราก็จะได้ผู้แทนนายจ้างลูกจ้างหน้าตาเดิมๆ แต่เราจะเสียเงินเพื่อจัดการเลือกตั้งมากขึ้น เจริญดีมั๊ยกระทรวงแรงงานของไทย
 
ปัญหาเรื่ององค์ประชุมของกรรมการก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ต่อเนื่องมาจากโครงสร้างและความสามารถไม่เต็ม ของคณะกรรมการ
 
คณะกรรมการประกันสังคมมีทั้งหมด 15 ท่าน ดังนั้น การมีกรรมการร่วมประชุม 8 ท่านก็สามารถประชุมตัดสินโครงการสำคัญๆ ที่เป็นผลเสียแก่กองทุนได้ ถ้ากรรมการฝ่ายลูกจ้างรวมตัวกัน 5 ท่านก็สามารถตัดสินด้วยเสียงส่วนใหญ่ได้ เช่น 
 
เมื่อสิ้นปี 2551 เป็นช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ได้เสนอให้ สปส. ใช้เงินกว่า 1,000 ล้านบาท ซื้อข้าวสารแจกผู้ประกันตน 9 ล้านคน โดยอ้างว่าเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่แก่ผู้ประกันตนที่ยังไม่ได้รับอะไรจากประกันสังคม?
 
 ปรากฏว่ากรรมการฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง จับมือกันเห็นด้วยและยังพาดพิงไปถึงโครงการคอมพิวเตอร์ 2,300 ล้านบาท (เดิมเป็น 2,800 ล้านบาท) ว่าไม่ถึงมือผู้ประกันตนแต่โครงการนี้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ตรงๆ เมื่อให้มีการลงคะแนนเสียงลับจากผู้เข้าประชุมทั้งหมด 8 ท่าน มี 5 ท่านที่เห็นด้วย มี 1 ท่านไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง 1 ท่าน อย่างไรก็ดี โครงการซื้อข้าวสารนี้ได้ถูกเลิกไปในภายหลัง
 
ตามเงื่อนไขของกฎหมายทำให้คนเพียง 5 คนก็สามารถกำหนดคุณภาพชีวิตของคนกว่า 10 ล้านคนได้เลย กฎหมายประกันสังคมของไทยมันโบราณเกินไปกับสถานการณ์ปัจจุบันเสียแล้ว (ติดตาม กรรมการที่ขาดความรับผิดชอบ ตอนที่ 2)
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง