ภาคพลเมือง "เชียงใหม่" มองจุดเด่น-ด้อย กรณีเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

22 ม.ค. 56
13:46
48
Logo Thai PBS
ภาคพลเมือง "เชียงใหม่" มองจุดเด่น-ด้อย กรณีเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

หลังจากได้หมายเลขประจำตัวผู้สมัครแล้วสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.คึกคักกว่าเดิม จากโปรแกรมลงพื้นที่หาเสียงของบรรดาผู้สมัคร โดยเฉพาะเมื่อมีผู้สมัครหน้าใหม่ลงชิงชัยหลายคนทั้งในนามพรรคและไม่สังกัดพรรคการเมือง และ การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่จะมีขึ้นต้นเดือนมีนาคมไม่ใช่แค่คนกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ประชาชนในหลายเมืองใหญ่ของประเทศกำลังติดตามบรรยากาศการเลือกตั้งครั้งนี้

ในอนาคตภาคพลเมืองในหลายเมืองใหญ่ไม่ว่า จะเป็นเชียงใหม่ ปัตตานี หรือ ขอนแก่น ต่างวางยุทธศาสตร์จังหวัดให้เป็นมหานครที่มีรูปแบบการปกครองคล้าย ๆ กรุงเทพมหานคร วันนี้มาทำความรู้จักกับภาคพลเมืองเชียงใหม่ที่กำลังผลักดันเชียงใหม่มหานคร รวมทั้งมุมมองที่สะท้อนต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

เริ่มกันที่บรรยากาศการลงพื้นที่หาเสียงของบรรดาผู้สมัครนโยบายหาเสียงของผู้สมัคร ภาคพลเมืองเชียงใหม่มองว่า ผู้สมัครยังคงเน้นนโยบายประชานิยมเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมายังไม่มีใครกล้าแตะปัญหาเชิงโครงสร้างที่อาจต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล เช่นเดียวกับการวางนโยบายตามความต้องการที่แท้จริงของคนกรุงเทพฯ

ผู้แทนจากเครือข่ายเชียงใหม่จัดการตนเอง บอกว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.หลายครั้งก่อนหน้านี้เคยทำให้คนเชียงใหม่รู้สึกอยากที่จะมีกระบวนการคัดสรรพ่อเมืองเช่นเดียวกับคนกรุงเทพ

ขณะที่แรงขับเคลื่อนของสภาองค์กรชุมชนกรุงเทพฯที่มีกว่า 80,000 คน และเข้มแข็งขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นจุดแข็งที่เชียงใหม่มองว่า เป็นตัวอย่างในการจัดการและสะท้อนความต้องการของคนในชุมชนได้อย่างชัดเจน แต่ตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการขับเคลื่อนของภาคพลเมืองกรุงเทพฯที่อาจเสนอประเด็นปัญหาหลากหลายเกินไป จนยากต่อการจัดการของพ่อเมือง และยากต่อการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม

ขณะที่โครงสร้างการบริหารราชการของ กทม.ที่รวมศูนย์อำนาจมากเกินไปและขาดอำนาจในบางเรื่องเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเดินหน้าพัฒนาเมือง ทำให้เชียงใหม่จึงให้ความสำคัญกับสภาพลเมือง โดยสภาพลเมืองจะเป็นกลไกสะท้อนความต้องการของคนเชียงใหม่ มีอำนาจตรวจสอบวิสัยทัศน์พ่อเมือง และ จะยึดประชาชนเป็ฯศุนย์กลางการพัฒนาเมือง

โดยผู้แทนจากเครือข่ายเชียงใหม่จัดการตนเองกล่าวเพิ่มเติมว่า กรุงเทพฯมีความต่างของวิถีพลเมือง นโยบายที่สอดคล้องและครอบคลุมความต่าง จึงเป็นสิ่งสำคัญ และเชียงใหม่เองได้นำจุดอ่อนของกรุงเทพฯเรื่องนี้มาเป็นบทเรียนในการพัฒนาเมือง ที่กำลังจะมีทิศทางการเติบโตของเมือง ไม่ต่างจากรุงเทพฯมากนัก แต่งานนี้ ต้องอาศัยความตื่นตัวของพลเมืองในการลุกขึ้นมาสานกระบวนการมีส่วนร่วม

ในอนาคตพัฒนาการของภาคพลเมืองและการเมืองจากมหานครน้องใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นอาจแซงหน้ามหานครแห่งแรกอย่างกรุงเทพฯไปก็ได้ คำตอบเรื่องนี้ อยู่ที่นักการเมืองและคนกรุงเทพฯว่า จะช่วยกันยกระดับการเลือกตั้ง และ ร่วมกันพัฒนาเมืองต่อจากนี้ยังไงในทิศทางไหน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง