นายกฯอังกฤษ เตรียมทำประชามติถอนตัวออกจากอียู หากชนะเลือกตั้งสมัยหน้า

ต่างประเทศ
24 ม.ค. 56
03:02
165
Logo Thai PBS
นายกฯอังกฤษ เตรียมทำประชามติถอนตัวออกจากอียู หากชนะเลือกตั้งสมัยหน้า

เมื่อวานนี้ (23 ม.ค.) นายกรัฐมนตรีของอังกฤษได้ให้สัญญากับประชาชนว่า หากพรรคอนุรักษ์นิยมของเขาชนะการเลือกตั้งในสมัยหน้า จะจัดให้มีการลงประชามติว่าชาวอังกฤษต้องการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง โดยเฉพาะฝ่ายค้านที่ไม่เห็นด้วยและมองว่าคำพูดของนายคาเมรอน ทำให้เศรษฐกิจของชาติตกอยู่ในความเสี่ยง แต่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกลับพบว่าส่วนใหญ่ต้องการให้อังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรป

ผลการสำรวจของ "ดิ ออฟติมั่ม ออฟเซิร์ฟเวอร์" ที่สอบถามความเห็นของชาวอังกฤษ พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 53 เห็นด้วยกับการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยมีร้อยละ 19 ทั้งนี้สถานการณ์เงินปอนด์อ่อนค่าที่สุดในรอบ 5 เดือน ทำให้บรรดานักธุรกิจออกมาเตือนว่าการที่นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีออกมาพูดในลักษณะนี้ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนถึงอนาคตของอังกฤษในการเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป และเป็นการทำลายบรรยากาศของการลงทุน โดยนายเอ็ด มิลลิแบนด์ หัวหน้าพรรคแรงงานซึ่งเป็นฝ่ายค้านตำหนินายคาเมรอนว่า ทำให้เศรษฐกิจของประเทศตกอยู่ในความเสี่ยง

ด้านนางแองเกล่า เมอร์เคล นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ต้องการให้อังกฤษเป็นส่วนที่สำคัญและเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปต่อไป ซึ่งสหภาพยุโรปพร้อมจะเจรจากับอังกฤษว่า อังกฤษต้องการอะไร แต่อย่าลืมว่าทุกประเทศต่างก็มีความต้องการที่แตกต่างกัน ดังนั้นจะต้องหาทางออกที่ประนีประนอมและยุติธรรม

ขณะที่ นายคาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม ให้สัญญาว่าหากพรรคของเขาชนะการเลือกตั้งในปี 2558 เขาจะเปิดโอกาสให้ประชาชนเลือกว่าต้องการให้อังกฤษเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปต่อไปหรือไม่ ซึ่งการลงประชามติอาจจะมีขึ้นในช่วงปี 2558 ถึงปลายปี 2560 โดยกล่าวว่าเขาไม่ใช่คนที่ต้องการให้ประเทศแยกออกมา แต่เขาต้องการให้อังกฤษเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปบนแนวทางที่ถูกต้อง, รวมกันเป็นตลาดเดียวหรือ"ซิงเกิ้ล มาร์เก็ต" ที่สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ โดยเขาต้องการเห็นสหภาพยุโรปมีความยืดหยุ่นมากกว่านี้, ปรับตัวมากขึ้น, เปิดกว้างมากขึ้นและแข็งแกร่งพอจะรับมือกับความท้าทายของโลกในยุคปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี การตัดสินใจว่าจะทำประชามติหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับสหภาพยุโรปว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนหรือไม่ ในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ และในกรณีที่สหภาพยุโรปล่มสลาย อังกฤษจำเป็นต้องหาทางออกให้ตัวเอง และการออกจากสหภาพยุโรปจะเป็น"ตั๋วเที่ยวเดียว" ที่ออกไปแล้วจะไม่กลับเข้ามาอีก ดังนั้นประชาชนจะต้องคิดเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพราะการถอนตัวจากสหภาพยุโรปเท่ากับละทิ้งความมั่งคั่งและบทบาทในเวทีโลก

สหภาพยุโรปหรืออียูมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 27 ประเทศ มีประชากรรวมกันมากกว่า 500 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 7.3 ของประชากรทั้งโลก เมื่อปี 2554 ผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพี ของอียูมีมูลค่าสูงถึง 17 ล้าน 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของจีดีพีทั้งโลก จึงถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีความสำคัญอีกแห่งหนึ่งของโลก และเมื่อปีที่แล้ว (2555) อียูได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพมาครอง อีกทั้งสหภาพยุโรปถือเป็นต้นแบบของอาเซียน ที่ประเทศไทยกำลังจะรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ"เออีซี" ในวันที่ 31 ธันวาคมปี 2558


ข่าวที่เกี่ยวข้อง