"ไทยพีบีเอส" ลงพื้นที่ตรวจสอบปลอมบัตรประชาชนใน จ.เชียงใหม่

24 ม.ค. 56
13:31
339
Logo Thai PBS
"ไทยพีบีเอส" ลงพื้นที่ตรวจสอบปลอมบัตรประชาชนใน จ.เชียงใหม่

หลังจากที่ไทยพีบีเอสติดตามหาบุคคลที่ถูกสวมบัตรประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ และได้รับคำชี้แจงจากเจ้าบ้านว่าบุคคลที่ตามหาตัวจริงไม่ใช่ชาวเขาที่เป็นเครือข่ายยาเสพติด แต่เป็นลูกของเพื่อนบ้านที่มาขออาศัยอยู่ในทะเบียนบ้านเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ทีมข่าวไทยพีบีเอสจึงเดินทางไปที่อำเภอแม่อาย เพื่อติดตามบุคคลที่รับรองให้สามารถทำบัตรประชาชนสัญชาติไทย โดยพบว่ากรณีนี้มีอดีตปลัดอำเภอร่วมทุจริตการสวมบัตรประชาชนครั้งนี้ ซึ่งนายอำเภอแม่อายเตรียมตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง

บ้าน จ.เจริญ ตำบลแม่นาวาง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ที่ไทยพีบีเอสเดินทางมาในวันนี้ เป็นบ้านของอดีตสารวัตรกำนันคนหนึ่งที่ลงชื่อรับรองนายอาจง แซ่ลู่ หรือนายภาณุ ปาปือ ชาวเขาเครือข่ายยาเสพติดรายสำคัญให้สามารถทำบัตรประชาชนสัญชาติไทยในชื่อนายถาวร สมจิตร ได้ ทั้งที่ไม่สามารถทำได้จริงตามกฎหมาย เมื่อทราบจากชาวบ้านว่าบ้านหลังนี้คือบ้านผู้รับรองให้นายอาจง สวมบัตรจึงลงไปสอบถาม

เมื่อทราบว่าอดีตสารวัตรกำนันที่ต้องการพบไม่อยู่ ทีมข่าวจึงขอเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อสอบถามข้อเท็จจริง ได้รับคำตอบว่าเพื่อนซึ่งเป็นชาวบ้านที่บ้านโป่งฮาย อำเภอแม่อาย มาขอให้รับรอง ซึ่งขณะนั้นมีเจ้าหน้าที่ของอำเภอคนหนึ่งบอกว่าสามารถทำได้ จึงทำไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

เมื่อได้รับคำตอบจากอดีตสารวัตรกำนัน ทีมข่าวเดินทางไปที่อำเภอแม่อายทันที เพื่อสอบถามถึงกรณีที่เจ้าพนักงานปกครองถูกระบุ ได้รับคำตอบจากนายอำเภอแม่อายว่า เจ้าหน้าที่คนนี้ย้ายไปประจำอีกอำเภอ โดยกรณีของเครือข่ายยาเสพติดที่สวมบัตรนายถาวร สมจิตร นั้นทางอำเภอได้รับข้อมูลเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา หลังไทยพีบีเอสนำเสนอข่าว ซึ่งการตรวจสอบย้อนหลัง พบเจ้าพนักงานปกครองคนนี้ยังได้ลงนามอนุมัติทำบัตรให้ชาวเขาโดยไม่ชอบอีกกว่า 20 ราย

กรมสอบสวนคดีพิเศษระบุว่าการสวมบัตรประชาชนสัญชาติไทย หรือบัตรประชาชนที่ขึ้นต้นด้วยเลข 3 มีการทำเป็นขบวนการโดยเจ้าพนักงานปกครอง จะมีข้อมูลบุคคลสัญชาติไทยที่ไม่มีความเคลื่อไหวในข้อมูลทะเบียนราษฎร์ เมื่อมีผู้มาติดต่อจะนำรายชื่อเหล่านั้นมาสวมสิทธิ์

ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบปัญหาการทุจริตสวมบัตรประชาชนบัตรต่อเนื่อง แต่พบปัญหาคือเจ้าพนักงานปกครองบางส่วนไม่ให้ความร่วมมือ และอ้างว่าเอกสารหายหรือชำรุด ซึ่ง 1 เดือนหลังจากนี้ เอกสารกว่า 100,000 แผ่นที่มีการตรวจสอบย้อนหลัง จะทำให้ทราบว่ามีเจ้าพนักงานปกครองคนใดร่วมกระทำความผิด

แต่ท้ายที่สุดหากพบความผิดก็ต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ท. และ ป.ป.ช.ตรวจสอบ ซึ่งขณะนี้ยังมีเรื่องทุจริตที่ ป.ป.ช.ยังอยู่ระหว่างพิจารณาเป็นจำนวนมาก เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว กระทรวงมหาดไทย และดีเอสไอ เตรียมพิจารณามาตรการอย่างไร เพื่อให้สามารถหยุดขบวนการทุจริตสวมบัตรประชาชนที่ดูเหมือนเป็นปัญหาทั่วไป แต่ส่งผลถึงความมั่นคงอย่างร้ายแรง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง