"Zero Dark Thirty" ดังหลังถูกห้ามฉายในปากีสถาน

Logo Thai PBS
"Zero Dark Thirty" ดังหลังถูกห้ามฉายในปากีสถาน

แม้เป็นที่ชื่นชอบของนักวิจารณ์ภาพยนตร์ แต่หนังซึ่งเผยเบื้องหลังที่นำไปสู่การจับกุม อุซามะฮ์ บิน ลาดิน ใน Zero Dark Thirty กลับสร้างความไม่พอใจให้หลายฝ่าย รวมถึงห้ามฉายในปากีสถาน แต่ยิ่งปิดกั้น กลับดูเหมือนว่ายิ่งเร้าความสนใจของผู้ชม จนต้องไปหาดีวีดีซึ่งได้รับความนิยมในตลาดมืดในขณะนี้

นอกจากชาวอินเดียจะไม่พอใจกองถ่ายภาพยนตร์ Zero Dark Thirty  ที่มาใช้เมืองจัณฑีครห์ในอินเดีย เป็นฉากหลังจำลองสถานที่หลบซ่อนของ อุซามะฮ์ บิน ลาดิน ในปากีสถาน จนบุกไปประท้วงถึงกองถ่ายมาแล้ว มาวันนี้หนังย้อนรอยการล่าสังหารอดีตผู้นำกลุ่มอัลกออิดะฮ์กลับไม่เป็นที่ยอมรับในปากีสถานเช่นกัน เมื่อผู้จัดจำหน่ายไม่ยอมนำเข้ามาฉาย เพราะกังวลว่าเนื้อหาที่ล่อแหลมจะสร้างความไม่พอใจต่อทั้งกองทัพปากีสถาน และอาจเป็นการยั่วยุกลุ่มก่อการร้ายในประเทศอีกด้วย

โมชิน ยาซีน ผู้จัดการทั่วไปของ Cinepax เครือข่ายโรงภาพยนตร์ชั้นนำของปากีสถานกล่าวว่า เมื่อ 3 ปีก่อนเคยซื้อลิขสิทธิ์ Tere Bin Laden หนังตลกอินเดีย ที่นำคนหน้าเหมือนบินลาดินมาล้อเลียน เข้ามาฉายในประเทศ แต่กองเซนเซอร์ปากีสถานกลับไม่อนุมัติ เพราะเกรงว่ากลุ่มก่อการร้ายจะใช้เป็นเหตุผลในการโจมตี ทำให้ Cinepax ต้องสูญเงินไปกว่าแสนดอลลาร์

จึงไม่ต้องการเสี่ยงกับหนังเรื่องใหม่อย่าง Zero Dark Thirty ที่ไม่เพียงเสนอภาพความพ่ายแพ้ของกลุ่มก่อการร้าย แต่ยังตอกย้ำความอับอายของกองทัพปากีสถานที่ไม่สามารถระบุที่ซ่อนตัวชาย ผู้ถูกตามล่ามากที่สุดในโลก ทั้งๆที่เขาอยู่ห่างจากศูนย์ฝึกของกองทัพไปเพียงไม่กี่ร้อยเมตร ซึ่งในหนังยังเสนอแนวคิดการให้ที่ซ่อนโดยทางการปากีสถาน เมื่อซีไอเอเริ่มดำเนินการโดยไม่ให้ทางการปากีสถานรับรู้

แต่การห้ามฉายก็ไม่สามารถหยุดความสนใจของชาวปากีสถานจากหนังเรื่องนี้ได้ เมื่อ Zero Dark Thirty กลับได้รับความนิยมอย่างสูงในตลาดมืดในรูปแบบดีวีดีละเมิดลิขสิทธิ์ โดยแฟนภาพยนตร์ยอมรับว่าการจับตัว อุซามะฮ์ บิน ลาดิน นับเป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในปากีสถาน และเขาอยากเห็นว่าจะเป็นอย่างไรหากได้ดูในรูปแบบของภาพยนตร์

ในสหรัฐฯ  Zero Dark Thirty กลายเป็นหนังอื้อฉาวที่สุดในรอบปี เมื่อตัวแทนของซีไอเอและนักการเมืองออกมาวิจารณ์ว่าหนังสนับสนุนการทรมานนักโทษ นำไปสู่การเรียกร้องของกลุ่มนักแสดงและสมาชิกของออสการ์ให้คว่ำบาตรผลงานเรื่องนี้ แต่กลับได้รับการสนับสนุนจาก ไมเคิล มัวร์ ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีชื่อดังผู้ต่อต้านการทรมานนักโทษ

โดยบอกว่าการทรมานนักโทษเพื่อให้เผยความลับมีอยู่จริง ก่อนที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามาจะประกาศยกเลิกในปี 2009 และหันมากระตุ้นให้ ซีไอเอ หาวิธีในการสอบสวนมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับผู้สร้างที่แสดงให้เห็นว่า 8 ปีของการทรมานนักโทษไม่สามารถนำไปสู่การจับกุมได้ แต่การค้นคว้าข้อมูลอย่างมีระบบทำให้ภารกิจสำเร็จในเวลาเพียง 2 ปี และสำหรับเขาเห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้ผู้ชมรังเกียจการหาข้อมูลด้วยการทรมานนักโทษมากกว่า


ข่าวที่เกี่ยวข้อง