ขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูง จ.ศรีสะเกษ ทวีความรุนแรง

ภูมิภาค
27 ม.ค. 56
13:48
200
Logo Thai PBS
ขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูง จ.ศรีสะเกษ ทวีความรุนแรง

ความต้องการไม้พะยูงในประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมีสูง ส่งผลให้สถานการณ์การลักลอบตัดไม้พะยูงในป่าเขตเทือกเขาพนมดงรักษ์ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ยังคงทวีความรุนแรง ซึ่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรักษ์ อ้างขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูงปัจจุบัน เกือบร้อยละ 90 เป็นชาวกัมพูชาและมีนายทุนชาวไทยอยู่เบื้องหลัง โดยขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูงจะอาศัยช่วงเวลากลางคืนเข้ามาตัดไม้ซึ่งยากต่อการจับกุม

ชุดเฉพาะกิจปราบปรามขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูง ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ป่าไม้, ทหารพราน และทหารราบ ลาดตระเวณตามรอยต่อตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชา เทือกเขาพนมดงรักษ์ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เพื่อสะกัดจับชาวกัมพูชาที่ลักลอบเข้ามาตัดไม้พะยูงในฝั่งไทย สภาพป่าของเทือกเขาพนมดงรักษ์ที่เป็นแนวเขาสลับซับซ้อน และมีเส้นทางติดต่อกับประเทศกัมพูชาหลายช่องทาง ทำให้ขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูงฉวยโอกาสเข้ามาตัดไม้ในฝั่งไทย โดยเฉพาะบริเวณช่องทัพอู, ช่องอ้ายนาค และช่องห้วยพลู เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นทางลาดชันเชื่อมไปยังฝั่งกัมพูชาซึ่งสะดวกต่อ การชักลากไม้

ขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูงในเขตเทือกเขาพนมดงรักษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์ป่าพนมดงรักษ์ ระบุว่า ส่วนใหญ่เป็นชาวกัมพูชาโดยมีนาย ทุนชาวไทยอยู่เบื้องหลัง การเข้ามาตัดไม้แต่ละครั้งจะมีกองกำลังคุ้มกัน ทำให้เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่หลายครั้ง ขณะที่ปัจจุบันขบวนการลักลอบตัดไม้จะอาศัยช่วงเวลากลางคืนเข้ามาตัดไม้โดย และจะใช้ขวานแทนเลื่อยยนต์เเพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุม ก่อนจะทยอยขนไม้ในลักษณะกองทัพมดออกจากป่าในช่วงเช้า

การจัดชุดลาดตระเวณ โดยเฉพาะจุดที่พบการชักลากไม้เข้าไปในฝั่งกัมพูชา ก่อนจะวางกำลังสะกัดจับ คือแผนการปราบปรามขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูงของเจ้าหน้าที่ แต่แรงจูงใจซึ่งเป็นมูลค่าของไม้พะยูง ที่กลุ่มขบวนการจะได้รับสูงถึงท่อนหลายหมื่นบาท และหากส่งไปขายต่างประเทศจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า ทำให้มีการลักลอบเข้ามาตัดไม้พะยูงอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงปีที่ผ่านมา เฉพาะในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรักษ์สามารถจับขบวน การลักลอบตัดไม้พะยูงได้ 129 คดีตรวจยึดไม้พะยูงของกลางได้กว่า 1,000 ท่อน ผู้ต้องหา 195 คน และจำนวนของกลางไม้พะยูงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังส่งผลให้เกิดปัญหาการจัดเก็บไม้ของกลาง ที่ปัจจุบันในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีไม้ พะยูงของกลางมากกว่า 10,000 ท่อน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง