นาซ่า - นักวิจัยด้านดาราศาสตร์ไทยยันพายุสุริยะไม่ส่งผลกระทบ

Logo Thai PBS
นาซ่า - นักวิจัยด้านดาราศาสตร์ไทยยันพายุสุริยะไม่ส่งผลกระทบ

จากความวิตกกังวลการเกิดพายุสุริยะอย่างแพร่หลายในสังคมโซเชียลมีเดีย ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อโลกในช่วง 1 - 2 วันนี้ ทั้งองค์การนาซ่า และนักวิจัยด้านดาราศาสตร์ในไทยยืนยันว่าการเกิดของพายุสุริยะจะไม่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อมนุษย์ รวมถึงระบบไฟฟ้า ดาวเทียมการสื่อสาร

เว็บไซต์ขององค์การนาซ่าของสหรัฐอเมริกานำภาพการเกิดของพายุสุริยะที่แสดงให้เห็นว่าก้อนมวลโคโรน่าสีแดงอมส้ม ซึ่งเป็นอนุภาค และคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ถูกปล่อยจากดวงอาทิตย์ เกิดประทุบนพื้นผิวดวงอาทิตย์ถึง 2 ครั้ง ระหว่างวันที่ 22 มกราคม เวลา 19.00 น. จนถึงวันที่ 23 มกราคม เวลา 17.30 น. ตามเวลาของสหรัฐอเมริกา โดยมี 1 ครั้งที่โคโรน่ามีทิศทางวิ่งมายังโลก เคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่ไม่สูงมากอยู่ที่ 375 ไมล์ต่อวินาที หากเทียบเวลา กลุ่มโคโรน่านี้จะเดินทางมาถึงโลกภายใน 3 วัน แต่เนื่องจากกลุ่มโคโรน่าเคลื่อนที่ช้ากว่าความเร็วปกติถึง 10 เท่า จึงไม่มีผลกระทบต่อมนุษย์รวมถึงระบบไฟฟ้า ระบบ GPS และระบบดาวเทียมสื่อสาร

นายอุเทน แสวงวิทย์ นักวิจัยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า พายุสุริยะครั้งนี้จะไม่ส่งผลต่อระบบไฟฟ้าหรือดาวเทียม เนื่องจากสนามแม่เหล็กโลกไม่สามารถจับไว้ได้หมด อาจกระทบแค่บริเวณขั้วโลกเหนือและใต้ อาจเกิดแสงเหนือและใต้ และส่งผลต่อระบบจีพีเอสบ้างเล็กน้อย ส่วนประเทศไทยจะไม่กระทบเพราะอยู่คนละซีกโลก

นายศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ในต่างประเทศไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้มากนัก เพราะเป็นเพียงปรากฏการณ์พ่นมวลโคโรนา ไม่น่าวิตกกังวลตามความตื่นตระหนกของชาวโซเชียลมีเดีย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง