เข็นร่างกรอบเจรจาฯเอฟทีเอ ไทย-อียู เป็นวาระเร่งด่วน

สังคม
28 ม.ค. 56
13:22
54
Logo Thai PBS
เข็นร่างกรอบเจรจาฯเอฟทีเอ ไทย-อียู เป็นวาระเร่งด่วน

เข้ารัฐสภา 29 ม.ค. นี้ ไม่ฟังเสียงทัดทานจากประชาชน ที่ประชุมรัฐสภา มีแนวโน้มเลื่อนวาระการให้ความเห็นชอบต่อร่างกรอบเจรจาการค้าเสรี ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป จากวาระที่ 24 มาเป็นวาระเร่งด่วนที่จะให้ความเห็นชอบได้ในสัปดาห์นี้

 นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่าการกระทำดังกล่าวน่าจะมีวาระซ่อนเร้น จึงต้องรีบกระทำการอย่างเร่งด่วน ซึ่งก็มีความสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เนื่องจาก คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบตั้งแต่ 4 ธันวาคม 2555 โดยที่ไม่มีการเผยแพร่ร่างกรอบเจรจา และไม่มีการรับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก่อน และเพิ่งเปิดรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา จะประมวลผล หรือนำกรอบดังกล่าวให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ โดยไม่มีเวลาได้ศึกษาล่วงหน้าได้อย่างไร

“ภาคประชาชนไม่มีเจตนาคัดค้านการเจรจาการค้าเสรี แต่การเจรจาต้องเป็นประโยชน์กับประชาชน และรัฐบาลต้องทำด้วยความรอบคอบ มีข้อมูล ฟังความเห็น ศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน จึงตัดสินใจ ไม่ใช่รีบทำให้เสร็จเพื่อเอาใจนักลงทุน แต่ละเลยชีวิตประชาชน” นายนิมิตร์ กล่าว
 
ภาคประชาชนขอ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้อย่าเพิ่งรีบเร่งลงมติเห็นชอบกรอบเจรจาดังกล่าว เพื่อให้การเจรจาความตกลงการค้าเสรี เป็นประโยชน์กับประเทศชาติอย่างแท้จริง โดยเสนอขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา มีมติให้คณะรัฐมนตรีกลับไปพิจารณาร่างกรอบใหม่ โดยปรับให้สอดคล้องกับข้อเสนอที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประเด็นที่มีข้อห่วงกังวลที่สุด ได้แก่ประเด็น 1.ทรัพย์สินทางปัญญา 2.สินค้าแอลกอฮอล์และยาสูบ และ 3.การลงทุน
 
นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มเอฟทีเอ วอทช์ กล่าวว่าข้อกังวลที่ภาคประชาสังคมมีข้อห่วงกังวลสูงที่สุด มี 3 ประเด็นหลักได้แก่ 1 ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ภาครัฐอย่างรุนแรง ซึ่งหมายถึงผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนไทย และกระทบกับความมั่นคงทางยาของประเทศในที่สุด จะมีผลเสียหายไม่ต่ำกว่าปีละ 1 แสนล้านบาท ทางด้านผลกระทบต่อทรัพยากรชีวภาพ และการผูกขาดเมล็ดพันธ์ ทำให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธ์ทางการเกษตรแพงมากขึ้นอีก 3-4 เท่าตัว ทำให้ผู้บริโภคต้องบริโภคอาหารที่แพงขึ้น
 
“ประเด็นใหญ่ที่สองคือการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีอันตรายเข้าไปอยู่ในกรอบเจรจาจะให้คนบริโภคได้ง่ายและมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในประเทศโดยตรง และสุดท้ายคือประเด็นการคุ้มครองการลงทุน ที่เปิดโอกาสให้ให้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งมีค่าเท่ากับไทยเสียเอกสิทธิแห่งรัฐ เป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องค่าเสียหาย แม้รัฐจะมีนโยบายที่คุ้มครองคนในประเทศก็ตาม” กรรณิการ์ กล่าว
 
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการเครือข่ายประเทศโลกที่ 3 (Third World Network-TWN) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ก่อตั้งเมื่อปี 2527 มีสำนักงานอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย โดยให้ความสนใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลก พร้อมทั้งประเด็นสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขมาตลอด มีจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีฯ โดยมีข้อความเตือนว่าอย่ายอมรับเงื่อนไขใดๆ ที่เกินไปกว่าความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า หรือ ทริปส์พลัส ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบสาธารณสุขไทย และความสามารถในการดูแลให้ประชากรไทยเข้าถึงยาในราคาที่เหมาะสม ส่งผลทำให้ยาราคาแพงขึ้น และแพงยาวนานขึ้น พร้อมทั้งให้ข้อมูลความเสียหายจากการเจรจาซึ่งหลายประเทศต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาลจากบทว่าด้วยการค้าการลงทุน 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง