สพฉ.แนะข้อควรรู้เมื่อพบผู้ป่วยฉุกเฉิน ก่อนโทรแจ้ง 1669

สังคม
28 ม.ค. 56
13:57
1,151
Logo Thai PBS
สพฉ.แนะข้อควรรู้เมื่อพบผู้ป่วยฉุกเฉิน ก่อนโทรแจ้ง 1669

ย้ำผู้พบเหตุควรให้ข้อมูลเจ้าหน้าที่ซักประวัติอย่างละเอียด “อาการบาดเจ็บ-เหตุการณ์-จุดเกิดเหตุ-การติดต่อกลับ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยฉุกเฉิน

 ปัจจุบันสถานการณ์ของการเจ็บป่วยฉุกเฉินเกิดขึ้นในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากอุบัติเหตุ การเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง โรคเบาหวาน ซึ่งโรคต่างๆ เหล่านี้ หากไม่ได้รับการช่วยเหลือที่ถูกต้องและทันท่วงที อาจทำให้เกิดการพิการและสูญเสียต่อชีวิต ของผู้ประสบเหตุได้  

 
นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รักษาการเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึง ปัจจุบันการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินมีความเป็นระบบมากขึ้น โดยผู้ประสบเหตุสามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง  ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินปลอดภัย นอกจากการช่วยเหลือที่ถูกต้องและทันเวลาแล้ว อีกประเด็นสำคัญของการช่วยเหลือและเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของระบบการให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น คือจะต้องมีกระบวนการที่ทำให้เจ้าหน้าที่รับเหตุสามารถประเมินสภาพผู้ป่วยก่อนให้การช่วยเหลือได้ ด้วยเพราะเจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ และอาจไม่สามารถประเมินอาการของผู้ป่วยได้ ดังนั้นหากผู้พบเหตุไม่แจ้งอาการของผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างครบถ้วน โอกาสที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้ทันกาลก็ยากตามไปด้วย 
 
เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยฉุกเฉินเอง และเพื่อการช่วยเหลือทัน มีวิธีที่จะช่วยให้ผู้ประสบเหตุ หรือญาติของผู้ประสบเหตุนำไปปฎิบัติหากบุคคลใกล้ชิด หรือต้องพบกับเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน โดยสิ่งสำคัญที่ผู้แจ้งเหตุจะต้องให้ข้อมูลกับผู้รับแจ้งเหตุในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน คือ 
 
1. เมื่อพบผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือผู้ประสบอุบัติเหตุให้ตั้งสติ และโทรแจ้งสายด่วน 1669 
2.ให้ข้อมูลลักษณะเหตุการณ์ ว่าเกิดอุบัติเหตุอะไร ประเภทใด หรือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินในลักษณะใด เช่น คนถูกรถชน รถชนกัน รถคว่ำ คนตกจากที่สูง มีบาดแผลขนาดใหญ่ ลึก มีเลือดออกมาก ห้ามเลือดไม่อยู่ ไฟฟ้าช็อต ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ได้รับสารพิษ ยาพิษ สัตว์มีพิษกัดต่อย หรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน เช่น หมดสติ มีอาการของภาวะช็อค เช่น หน้าซีด เหงื่อออก ตัวเย็น ซึมลง ชักเกร็ง ชักกระตุก เป็นไข้สูง ตัวร้อนจัด หนาวสั่น ตกเลือด เจ็บท้องคลอดฉุกเฉิน มีสิ่งแปลกปลอดอุดกั้นทางเดินหายใจ เจ็บหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย ถูกทำร้ายร่างกาย มีอาการทางจิตเวช เป็นต้น 
3. บอกสถานที่เกิดเหตุ จุดเกิดเหตุ  หรือจุดเด่นที่สำคัญที่สามารถเห็นชัด และเส้นทางที่สามารถไปถึงที่เกิดเหตุได้ 
4.บอกเพศ ช่วงอายุ จำนวนผู้บาดเจ็บ อาการรุนแรงของแต่ละคน 
5.บอกระดับความรู้สึกตัวของผู้บาดเจ็บ 
6.บอกความเสี่ยงซ้ำ เช่น อยู่กลางถนน เพราะอาจเกิดกรณีรถเหยียบซ้ำได้ 
7. ชื่อผู้แจ้งหรือผู้ให้การช่วยเหลือหรือเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ 
8. แจ้งอาการผู้ป่วยเพิ่มเติม และช่วยเหลือตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ตามอาการผู้ป่วยฉุกเฉิน และ 
9.รอชุดปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินมารับผู้ป่วยเพื่อนำส่งโรงพยาบาล
 
การแจ้งข้อมูลเบื้องต้นถือว่ามีความสำคัญมาก และเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการช่วยเหลือขั้นแรกที่จะช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมีโอกาสรอดและปลอดภัยมากขึ้น 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง