นัยยะการเคลื่อนไหวของกลุ่ม "29 มกรา" กับการร่างพ.ร.ก.นิรโทษกรรม

29 ม.ค. 56
13:07
74
Logo Thai PBS
นัยยะการเคลื่อนไหวของกลุ่ม "29 มกรา" กับการร่างพ.ร.ก.นิรโทษกรรม

แม้จะมีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองออกมาผลักดันให้รัฐบาลหรือรัฐสภาพิจารณาตรากฎหมายนิรโทษกรรม โดยอ้างอิงเหตุผลถึงการสร้างความปรองดองในบ้านเมือง แต่นักวิชาการอิสระและนักสันติวิธี เชื่อว่า การเกิดขึ้นของกฎหมายเป็นไปได้ยาก เนื่องจากความผิดในการชุมนุมทางการเมืองบางคดีเกี่ยวข้องกับมาตรา 112

ถ้าหยิบยกข้อเสนอของแต่ละกลุ่มที่ออกมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ จะเห็นว่า สาระสำคัญของร่างกฎหมายไม่ได้เอื้อประโยชน์ทางคดีให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรโดยตรง แต่กระบวนการพิจารณาและผู้ดำเนินการ ไม่ว่าจะฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ ต่างยึดโยงกับพรรคเพื่อไทย จึงไม่สามารถหลีกเหลี่ยงข้อครหาได้ ดังนั้น การเคลื่อนไหวเรื่องกฎหมายยกเว้นความผิด มีนัยยะทางการเมืองใดเกิดขึ้นบ้างกับรัฐบาล พรรคเพื่อไทยและกลุ่ม นปช.

โดยการออกมาเคลื่อนไหวของอ.สุดา รังกุพันธุ์ ผู้ประสานงานแนวร่วม "29 มกรา" ปลดปล่อยนักโทษทางการเมือง หรือ ชื่อเดิมว่า กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล ถูกตีกันจากแกนนำ นปช.เพียงแค่ช่วงข้ามคืนก่อนเวลานัดหมายชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า นั่นอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า "แยกกันเดินไปแล้ว"

   

วางเกณฑ์ผู้ชุมนุมไว้เรือนหมื่น และโหมกระแสมาตลอด ว่าจะเป็นการชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม นปช. เพื่อทวงถามถึงการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม แต่เพียงแค่ช่วงข้ามคืน ก่อนถึงเวลานัดหมายชุมนุม แกนนำ นปช. กลับออกมาปฏิเสธความเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วม 29 มกราปลดปล่อยนักโทษทางการเมือง ว่าไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม นปช. โดยทั้งนางธิดา ถาวรเศรษฐ์และนายขวัญชัย ไพรพนา ออกมาระบุว่า การเคลื่อนไหวของ นปช.เพื่อแก้รัฐธรรมนูญหรือออกกฎหมายนิรโทษกรรมจะไม่ใช่วิธีกดดันรัฐบาล

แต่ทั้งการชุมนุม ยื่นเรื่องและกรอบเวลาที่รอคำตอบจากรัฐบาล โดยอ.สุดา รังกุพันธุ์ แกนนำการเคลื่อนไหวในวันนี้เข้าข่ายกดดันรัฐบาลไปแล้ว และระหว่างปราศรัยก็พอจะเห็นได้ถึงเจตนาที่ต้องการเดินหน้ายกเว้นความผิดให้กับประชาชนผู้ถูกหมายจับ 1,857 คน และอีกหลายคนที่ถูกทำร้าย จับกุมและบางส่วนถึงขั้นเสียชีวิต อย่างกรณีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสาร วอยซ์ออฟทักษิณ ถึงถูกดำเนินคดีความผิดมาตรา 112 และ กรณีของนายอำพล ตั้งนพกุล หรืออากง เอสเอ็มเอส
 
ถ้ามองมุมหนึ่ง อาจบอกได้ว่า อ.สุดา เคลื่อนไหวด้วยความกังวลในมวลชนที่กำลังเดือดร้อนจากคดีการชุมนุมทางการเมือง แต่อีกมุมหนึ่ง ก็ตั้งข้อสังเกตได้ ว่า นปช.กำลังเดินเกมวัดใจรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่ตีตัวออกห่าง นปช.ไปแล้ว ซึ่งนักวิชาการอิสระและนักสันติวิธี ก็วิเคราะห์ไว้ไม่ต่างจากนี้

ทันทีที่ถามว่า ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจะเกิดขึ้นได้ไหม รศ.พรชัย เทพปัญญา นักวิชาการอิสระ ระบุว่า ยากมาก และชี้ว่า ความยากนั้นอยู่ตรงที่ผู้ชุมนุมทางการเมืองในช่วงเวลาที่ถูกนำเสนอเป็นร่างกฎหมาย บางคนนั้นมีคดีความผิดในมาตรา 112 ซึ่งหมายถึงคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หากยกเว้นความผิดนี้ ย่อมมีกลุ่มที่จะลุกขึ้นมาต่อต้านคัดค้านหลายกลุ่มทีเดียว 

  

ดังนั้นรัฐบาลคงต้องทบทวนว่าจะเกิดประโยชน์อะไรหากต้องตรากฎหมายที่ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แล้วยังต้องสุ่มเสี่ยงต่อเสถียรภาพรัฐบาล ซึ่งวันนี้ก็ไม่มั่นคงมากนัก เพราะยังมีเรื่องค้างเก่าที่ต้องสร้างความชัดเจน ทั้งการแก้รัฐธรรมนูญและคดีปราสาทพระวิหาร

ไม่ต่างกับมุมมองของนักสันติวิธี "พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ" ที่ชี้ว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องตรากฎหมายนิรโทษกรรม แม้จะมีบริบทของกลุ่มหรือองค์กรหลายกลุ่มหลายองค์กรออกมาผลักดันก็ตาม เพราะการนิรโทษกรรมเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ผลที่ตามมากระทบรัฐบาลแบบเต็ม ๆ และคำตอบที่นายกฯยิ่งลักษณ์ให้กับกลุ่ม 29 มกราฯ ก็พอจะบอกได้ว่า "ประวิงเวลาไว้ก่อน"
 
สิ้นสุดกิจกรรม" หมื่นปลดปล่อย" ของอ.สุดาในวันนี้ นักวิชการและนักสันติวิธี บอกว่า นี่ละห้วงเวลาของการวัดใจ ระหว่างแกนนำ นปช.กับมวลชน นปช. และระหว่าง นปช. กับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่ไม่ยืนยันว่า เกี่ยวข้องกับเกมต่อรองตำแหน่งใน ครม.ยิ่งลักษณ์ 4 หรือไม่ ส่วนร่างพ.ร.บ.หรือพ.ร.ก.นิรโทษกรรมจนถึงขณะนี้ พอสรุปได้เบื้องต้นแล้ว

หลักการและเหตุผลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ สร้างความปรองดองด้วยการยกเว้นความผิด โดยร่างที่ค้างอยู่ 4 ฉบับในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งวางกรอบยกเว้นความผิดผู้ชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ 19 กันยายน 2548 ถึง 10 พฤษภาคม 2554 แต่ฉบับของนายนิยม วรปัญญา ให้นิรโทษกรรมทั้งความผิดอาญา แพ่งและปกครอง ขณะที่ฉบับของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ไม่นับรวมคดีก่อการร้ายและความผิดต่อชีวิต  ส่วนที่คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 เสนอ เน้นยกเว้นความผิดให้กับประชาชนผู้ชุมนุม ตั้งแต่ปี 2548 ถึงปี 2553 

ขณะที่คณะนิติราษฎร์ เสนอกรอบเวลาเดียวกัน แต่เป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการนิรโทษกรรมผู้ชุมนุม และข้อเสนอนี้ อาจารย์สุดา นำมาเป็นต้นร่างในการนำเสนอนายกรัฐมนตรี พิจารณาเป็นพระราชกำหนด แทนร่างพระราชบัญญัติ

การตรากฎหมายนิรโทษกรรม คงต้องใช้เวลาไม่ต่างกับการแก้รัฐธรรมนูญค่ะ เพราะผลนั้นสั่นคลอนกับเสถียรภาพของรัฐบาล แต่ "ครม.ยิ่งลักษณ์ 4" ที่จะเสริมเสรียรภาพให้แข็งแกร่งขึ้น อาจจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ แต่จะปรับเพียงแค่ตำแหน่งที่ว่างลงของพรรคชาติไทยพัฒนา หรือพ่วงท้ายปัจจัยอื่นไปด้วย ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"


ข่าวที่เกี่ยวข้อง