200 ปีงานเขียนดังของ "เจน ออสเทน"

Logo Thai PBS
200 ปีงานเขียนดังของ "เจน ออสเทน"

แม้ Pride and Prejudice ผลงานที่ประสบความสำเร็จที่สุดของ เจน ออสเทน นักเขียนชาวอังกฤษ จะมีอายุยาวนานถึง 200 ปี แต่ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง สะท้อนความเป็นอมตะของงานเขียนที่วิพากษ์ประเด็นทางสังคมอย่างลึกซึ้ง

ภาพผู้คนแต่งกายย้อนยุคในสมัยรีเจนซีราวต้นศตวรรษที่ 19 ช่วงที่ยุโรปออกล่าอาณานิยม หาใช่เหล่านักแสดงในกองถ่ายภาพยนตร์ย้อนยุค แต่เป็นกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า Janeites หรือ นักอ่านผู้คลั่งไคล้งานวรรณกรรมคลาสสิกของ เจน ออสเทน นักเขียนหญิงชาวอังกฤษ มารวมตัวกันในงานฉลองเพื่อย้อนรำลึกวิถีชีวิตชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 19 ทั้งงานเลี้ยงน้ำชาจนถึงงานเต้นรำ ถูกบรรยายเอาไว้อย่างโดดเด่นในงานเขียนชื่อดังเมื่อ 200 ปีที่แล้ว

ผลงานประพันธ์ที่โด่งดังที่สุดของ เจน ออสเทน คือ เรื่อง สาวทรงเสน่ห์ หรือ Pride and Prejudice ซึ่งสะท้อนภาพชีวิตชนชั้นสูงในอังกฤษช่วงศตวรรษที่ 19 ขณะที่นิยายส่วนใหญ่ในห้วงเวลานั้นเต็มไปด้วยงานเขียนเพ้อฝันเกี่ยวกับอัศวิน ในโอกาสครบรอบ 200 ปี ของการตีพิมพ์ผลงานนี้ พิพิธภัณฑ์ Jane Austen House Museum ซึ่งในอดีตคือบ้านพักของนักเขียนหญิง ได้จัดแสดงของสะสมหายาก ทั้ง Pride and Prejudice ฉบับพิมพ์ครั้งแรก โต๊ะที่เธอใช้เขียนหนังสือ รวมถึงจดหมายที่เธอระบุว่า Pride and Prejudice เป็นงานเขียนที่เธอรักที่สุด

ความเป็นอมตะของเนื้อหาที่เกี่ยวกับความรักและชนชั้นที่เข้าถึงใจผู้คนทุกยุคทุกสมัย ทำให้ผลงานของเธอได้รับความนิยมจนถึงทุกวันนี้ โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ของอังกฤษประเมินว่าปีที่แล้วหนังสือของเธอถูกจำหน่ายไปถึง 132,000 เล่ม โดยตัวแทนของสำนักพิมพ์ Penguin ยอมรับว่างานเขียนของออสเทนได้รับความนิยมในอันดับ 1 เมื่อเทียบกับผลงานของนักเขียนใหญ่ทั้ง ชาร์ลส์ ดิกเคนส์ จอร์จ ออร์เวลล์ หรือ แม้แต่ เชคสเปียร์ส

แม้ออสเทน จะมีงานประพันธ์เพียง 6 เรื่อง แต่ผลงานเหล่านั้นได้กลายเป็นขุมทรัพย์ ด้านแรงบันดาลใจที่สำคัญของศิลปินยุคหลัง ทั้งการดัดแปลงเป็นผลงานงานภาพยนตร์ในเรื่อง Sense and Sensibility, Pride and Prejudice และ Emma หรือนำเรื่องราวของเธอมาดัดแปลง ทั้ง Becoming Jane ที่เล่าถึงชีวิตของนักเขียนสาว

Bride and Prejudice หนังร่วมสมัยเวอร์ชั่นบอลลีวูด และ Austenland ที่เล่าถึงชาวอเมริกันยุคใหม่ผู้กลับไปสู่โลกย้อนยุคในสมัยของออสเทน เช่นเดียวกับนักเขียนไม่น้อยที่นำแรงบันดาลใจของ Pride and Prejudice ไปต่อยอดในแนวทางที่แหวกแนว ทั้ง Death Comes to Pemberley ที่นำเสนอตอนต่อในแนวฆาตกรรมอำพราง หรือ Pride and Prejudice and Zombies ที่เล่าถึงศตวรรษที่ 19 ที่อังกฤษถูกรุกรานด้วยอมนุษย์ ซึ่งประสบความสำเร็จจนต้องตีพิมพ์ภาคต่อมาแล้ว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง