สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มปีมะเส็ง กับโจทย์หนักที่ท้าทายของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ

31 ม.ค. 56
08:29
274
Logo Thai PBS
สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มปีมะเส็ง กับโจทย์หนักที่ท้าทายของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ

ประเด็นสำคัญ สถานการณ์ธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในปี 2556 ยังคงเผชิญความท้าทายในการประคองความสามารถในการแข่งขัน และการก้าวผ่านแรงกดดันด้านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในปี 2556 น่าจะอยู่ระหว่างกรอบคาดการณ์-5.0%ถึง0.0% โดยแรงขับเคลื่อนหลักยังมาจากอาเซียนและญี่ปุ่น

 
 ศักราชใหม่ปี 2556 ธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เริ่มต้นด้วยความท้าทายที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรม ทั้งปัจจัยภายนอกจากความเปราะบางของภาวะเศรษฐกิจโลกที่กระทบกำลังซื้อจากฝั่งคู่ค้า และปัจจัยภายในประเทศจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้เป็นโจทย์หนักที่ผู้ประกอบการจะต้องข้ามผ่านไปให้ได้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปประเด็นสำคัญของธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มปี 2556  โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้ 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในปี 2556 น่าจะอยู่ที่ระดับ 6,700-7,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรืออยู่ระหว่างอัตราการหดตัวร้อยละ 5.0 ถึงทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับปี 2555 โดยตลาดที่ยังมีแนวโน้มหดตัวอย่างต่อเนื่อง ยังคงเป็นตลาดคู่ค้าหลักในสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ จากการที่ผู้บริโภคยังอยู่ในมาตรการรัดเข็มขัด ในขณะที่ราคาสินค้าของไทยอยู่ในระดับสูง เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง ทำให้คาดว่าคำสั่งซื้อจากตลาดกลุ่มนี้อาจจะหดตัวไปอีกสักระยะ 
หากพิจารณาตลาดในภูมิภาคเอเชียอย่างอาเซียน และญี่ปุ่น พบว่า ตลาดกลุ่มนี้ยังคงให้ภาพทิศทางการเติบโตที่เป็นบวก และอาจกล่าวได้ว่า ตลาดสองกลุ่มนี้น่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในระยะต่อไป โดยได้รับแรงส่งจากห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่เคลื่อนย้ายเข้ามาสนับสนุนภาคการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภูมิภาคเพิ่มขึ้น ผลักดันให้ยอดการส่งออก ทั้งในกลุ่มสิ่งทอที่ใช้เป็นวัตถุดิบ และกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม (จากความต้องการบริโภคสินค้าในกลุ่มแฟชั่นเครื่องแต่งกายที่เพิ่มขึ้น) ของไทยไปยังอาเซียนเติบโต ในขณะที่การเติบโตในตลาดญี่ปุ่น ก็ได้รับอานิสงส์จากการที่ญี่ปุ่นลดการพึ่งพาการนำเข้าจากจีน และหันมานำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มมากขึ้น
 
ขณะที่สินค้าที่ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงในปี 2556 ได้แก่ กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เพราะเป็นสินค้าพึ่งพาตลาดสหรัฐฯและยุโรปค่อนข้างสูง และไทยมีศักยภาพด้านการแข่งขันที่ลดลง ส่วนกลุ่มสิ่งทอ แม้ว่าจะชะลอตัวลงตามคำสั่งซื้อวัตถุดิบต้นน้ำจากคู่ค้าบางประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปไปยังปลายทางดังกล่าวเช่นเดียวกับไทย แต่คาดว่ามูลค่าการส่งออกน่าจะกลับมาพลิกฟื้นในช่วงครึ่งหลังปี 2556 ได้
 
ประเด็นท้าทายในภาคธุรกิจยังคงอยู่ที่การประคองความสามารถในการแข่งขัน จากแรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกับคู่แข่งจากประเทศในภูมิภาคเดียวกันอย่างกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำและส่งออกรายสินค้าประเภทเดียวกัน อีกทั้งยังคงได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าอยู่ และการก้าวผ่านแรงกดดันทางด้านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น 
 
ทั้งจากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน 300 บาททั่วประเทศ รวมถึงราคาสาธารณูปโภคและพลังงาน ตลอดจนการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต ซึ่งมีส่วนต่อการตัดสินใจขยายการลงทุนในธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในประเทศ เพราะอาจส่งผลต่อกำไรต่อหน่วยที่ลดลง ขณะที่ค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มผันผวนในทิศทางแข็งค่า ยังส่งผลต่อราคาส่งออกและคำสั่งซื้อที่จะเข้ามาสู่ผู้ประกอบการในไทยลดลงด้วย 
 
เมื่อพิจารณาผลกระทบที่ผู้ประกอบการได้รับจากแรงกดดันดังกล่าวข้างต้น จะพบว่า ผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มจะได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป ตามความสามารถในการส่งผ่านภาระต้นทุนและอำนาจในการต่อรอง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว จะกระทบอย่างมากต่อผู้ประกอบการ SMEs (มีจำนวนมากกว่าร้อยละ 85 ของผู้ประกอบการทั้งหมดในอุตสาหกรรม) ที่มีขีดความสามารถในการปรับตัวต่ำกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่หากพิจารณาจากสัดส่วนรายได้จากการส่งออก จะพบว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่ก็ยังมีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกค่อนข้างสูง และมีศักยภาพในการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมมากกว่า
 
โดยกลุ่มที่คาดว่าจะสามารถอยู่รอดต่อไปได้ ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการที่มีทางออกในการปรับตัว อาทิ การออกไปตั้งโรงงานในต่างประเทศเพื่อลดต้นทุน การขยายช่องทางการจำหน่ายในต่างประเทศ การพัฒนาความสามารถในการรับผลิตสินค้าที่รับคำสั่งซื้อได้หลากหลายรูปแบบ แม้ว่ายอดคำสั่งซื้อจะไม่มาก รวมถึงความสามารถในการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เป็นต้น 
 
ขณะที่กลุ่มที่ต้องยอมรับว่าอยู่รอดได้ยาก และจำเป็นต้องเร่งปรับตัวอย่างเร่งด่วน คือ กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังรับจ้างผลิตสินค้าที่ต้องแข่งขันด้านราคา ไม่มีศักยภาพในการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ และมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการปิดกิจการ และจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
 
กลยุทธ์การปรับตัวในระยะข้างหน้า: เทน้ำหนักไปที่การสายการผลิตที่มีศักยภาพในการแข่งขัน/ สร้างมูลค่าเพิ่ม/ การขยายสายการผลิตบางส่วนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
 
ในระยะข้างหน้า ประเด็นด้านความสามารถในการแข่งขันและต้นทุนการผลิต จะยังเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยากจะหลีกเลี่ยง ดังนั้น รูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Business Model) สำหรับการรับมือกับประเด็นดังกล่าว ผู้ประกอบการอาจจะต้องเทน้ำหนักไปที่สายการผลิตที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้น 
 
ในอุตสาหกรรมต้นน้ำในกลุ่มสิ่งทอ เช่น การเชื่อมโยงการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับเงื่อนไขการให้สิทธิประโยชน์ โดยมุ่งเน้นไปสู่กิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น เช่น การผลิตเส้นใยเชิงเทคนิค การผลิตด้ายหรือผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษ และการผลิตเส้นใยธรรมชาติหรือเส้นใยประดิษฐ์ เป็นต้น
 
ในขณะที่อุตสาหกรรมปลายน้ำอย่าง เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งมีความเป็นได้ว่าอาจจะไม่ได้รับการส่งเสริมจาก BOIในระยะต่อไป แนวทางการปรับตัวจึงควรมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างศักยภาพแรงงานให้มีผลิตภาพสูงขึ้น การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนการมองหาช่องทางในการขยายสายการผลิตและการจัดจำหน่ายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีความได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงาน และยังคงได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ จากทางฝั่งคู่ค้า ซึ่งน่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนในขณะนี้ 
 
อย่างไรก็ดี การเข้าไปลงทุนในต่างประเทศสำหรับผู้ประกอบการ SMEs อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีต้นทุนการดำเนินงานที่สูง และมีกฎระเบียบที่ยุ่งยากซับซ้อน ดังนั้น การรวมกลุ่มกัน (Cluster) เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีสายป่านยาว หรือการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางการค้า (ทั้งในรูปแบบของ Partner หรือ Joint Venture กับนักธุรกิจที่เป็นคนท้องถิ่น) น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการหาตลาดรองรับได้ 
นอกจากนี้ โอกาสในการเจาะตลาดเพื่อนบ้านผ่านการค้าชายแดน ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ผู้ประกอบการควรเร่งขยายการส่งออกให้เพิ่มมากขึ้น โดยอาศัยความได้เปรียบด้านคุณภาพและระยะทางการขนส่งที่ใกล้ ทั้งนี้ ก็เพื่อรับการแข่งขันที่เข้นข้นและการเข้าสู่เปิดเสรี AEC ในอีก 2 ปีข้างหน้า
 
หากเส้นทางการปรับตัวเป็นไปในทิศทางดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง คงทำให้โครงสร้างรายได้ของธุรกิจในอุตสาหกรรมปลายน้ำ เปลี่ยนไปสู่การพึ่งพารายได้ส่งกลับจากต่างประเทศด้วยสัดส่วนที่สูงขึ้นตามลำดับ (ขณะที่รายได้ส่งออกหลักจะยังคงมาจากผลิตภัณฑ์ในส่วนของอุตสาหกรรมต้นน้ำ ที่มีศักยภาพและยังพอแข่งขันได้) 
 
ทั้งนี้  คงต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของทางการที่จะเข้ามาสนับสนุนทั้งในเรื่องการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ และมาตรการทางภาษีที่หากเป็นไปในทิศทางที่จูงใจให้มีการนำรายได้กลับประเทศ ก็คาดว่าในระยะยาว สัดส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้จะสามารถช่วยทดแทนการส่งออกที่อาจให้ภาพที่ไม่สดใสได้ในระดับหนึ่ง
 
อีกประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ความเป็นไปได้ที่ไทยจะผลักดันการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-อียู ให้เป็นผลสำเร็จ รวมไปถึงความก้าวหน้าของการเจรจาเข้าเป็นหนึ่งในสมาชิก TPP ของไทย ที่อาจจะส่งผลเชิงบวกต่อธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 
 
อย่างไรก็ดี ทางการคงต้องใคร่ครวญผลกระทบรอบด้านอย่างรอบคอบ เพราะอาจจะมีประเด็นอ่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมไปถึงผลประโยชน์ของประชาชนทั่วไปด้วย อาทิ เรื่องสิทธิบัตรยา สิทธิบัตรพืชและสัตว์ หรือการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง