เปิดเส้นทาง ชีวิต ชะตากรรม แรงงานข้ามชาติหลังได้รับการผ่อนผันการขึ้นทะเบียนพิสูจน์สัญชาติ”

31 ม.ค. 56
08:52
71
Logo Thai PBS
เปิดเส้นทาง ชีวิต ชะตากรรม แรงงานข้ามชาติหลังได้รับการผ่อนผันการขึ้นทะเบียนพิสูจน์สัญชาติ”

จับตาธุรกิจนายหน้าเฟื่องฟูอีกระลอก คาดเงินสะพัดกว่าพันล้าน ! หลังรัฐขีดเส้นตาย 120 วัน

 “ไม่ว่าจะผ่อนผันการขึ้นทะเบียนพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติอย่างพวกเราออกไปอีกกี่ปี กี่เดือนสิ่งที่เราได้พบเจอก็คือวิธีปฏิบัติแบบเดิมๆ จากเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเองที่ชอบรีดไถพวกเรา ถึงแม้จะมีเอกสารทุกอย่างครบก็ยังเอาเงินของพวกเราไป เราเหลือร้อยสองร้อยก็ยังเอา หรือแม้กระทั่งกระบวนการในจะขึ้นทะเบียนเพื่อพิสูจน์สัญชาติ เราก็ต้องเสียเงินค่านายหน้าที่มากกว่าความเป็นจริงเหลือเกิน แบบนี้สู้เราไม่มีเอกสารอะไรเลยมันยังจะง่ายกว่า” แรงงานชาวพม่าจาก จ.สมุทรสาคร คนหนึ่งสะท้อนความรู้สึกให้เราฟังด้วยความรู้สึกอัดอั้นตันใจในสิ่งที่เขาและเพื่อนแรงงานอีกหลายคนได้พบเจอกับประสบการณ์อันเลวร้ายในการเข้ามาเผชิญชีวิตในประเทศไทย

 
นอกจากแรงงานพม่าคนนี้แล้ว ยังมีแรงงานพม่าจากจ.ปทุมธานี ที่สะท้อนความรู้สึก และปัญหาที่ต้องพบเจอในการเข้ามาทำงานที่ประเทศไทย ให้ฟังอีกว่า  “เมื่อก่อนผมเริ่มเข้ามาทำงานที่ประเทศไทยเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว โดยเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ด้วยวิธีการลักลอบเดินทางเข้าประเทศข้ามมายังฝั่งไทย และนัดแนะกับญาติไว้ที่ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งในขณะนั้นงานที่ต้องการมากที่สุด คือ การเลี้ยงวัว เลี้ยงหมู ในฟาร์ม ซึ่งผมผ่านกระบวนการการทำงานในประเทศไทยมาทุกขั้นตอน ทั้งผิดกฎหมายและถูกกฎหมาย  
 
ปัจจุบันนี้ตนมีบัตรทุกอย่างถูกกฎหมายแล้ว แต่ปัญหาที่พบเจอก็คือกระบวนการในการพิสูจน์สัญชาติเพื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทยนั้นยังมีจุดอ่อนอีกมาก เพราะแรงงานไม่สามารถยื่นเรื่องขอพิสูจน์สัญชาติเองได้ ต้องผ่านกระบวนนายหน้าและโบรกเกอร์ที่ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก”ตัวแทนแรงงานพม่าจากจังหวัดปทุมธานีกล่าว
 
ทั้งนี้ ความต้องการแรงงานในประเทศไทย ที่ต้องทำงานหนักและยากลำบากมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยที่งานบางประเภทแรงงานไทยปฏิเสธที่จะทำ ด้วยเพราะเสี่ยงต่อชีวิต อาทิ แรงงานประมง แรงงานก่อสร้าง แรงงานภาคเกษตร แรงงานในอุตสาหกรรมหนัก  หรือแม้กระทั่งแรงงานที่ทำงานบ้าน ก็ยังขาดแคลน ทำให้ความต้องการแรงงานข้ามชาติให้เข้ามาทำงานเหล่านี้มีเพิ่มเป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่เดิมการจ้างงานแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ใช้วิธีการจัดจ้างตามระบบเอ็มโอยู (MOU) ที่รัฐไทยได้ตกลงทำกับรัฐบาล 3 ประเทศ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา 
 
โดยนายจ้างที่ต้องการนำเข้าแรงงานข้ามชาติทั้ง 3 ประเทศนี้ ต้องยื่นคำร้องขอเพื่อนำเข้าแรงงานข้ามชาติ และแจ้งความต้องการจ้างแรงงานเพื่อให้ได้โควต้า และเมื่อได้โควต้าแรงงานแล้วก็ต้องนำแรงงานดังกล่าวไปขอยื่นรับใบอนุญาตทำงาน โดยนายจ้างจะต้องดูแลการใช้งานแรงงานข้ามชาติ ดูแลการเดินทาง รวมถึงการยกเลิกการทำงานของแรงงานข้ามชาติด้วย 
 
ภายหลังได้มีการเปลี่ยนระบบ เพื่อให้แรงงานได้มีโอกาสเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้อย่างเสรี โดยใช้กระบวนการพิสูจน์สัญชาติแทน โดยจากข้อมูลของกรมการจัดหางาน ระบุว่า มีแรงงานข้ามชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานที่ประเทศไทย และผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วประมาณ 8.7 แสนคน แบ่งเป็นชาวพม่า 5 แสนคน แรงงานกัมพูชา 7 หมื่นคน ส่วนแรงงานลาวนั้นไม่มีการพิสูจน์สัญชาติเลย ทำให้ปัจจุบันเหลือแรงงานที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติประมาณ 3 แสนคน  
ทั้งนี้ปัญหาในการพิสูจน์สัญชาติคือจำนวนของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานนั้นมีเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ระยะเวลาในการพิสูจน์สัญชาติที่รัฐบาลกำหนดไว้ ไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนด ซึ่งคณะรัฐมนตรี ได้มีมติออกมาเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 ผ่อนผันแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองเป็นกรณีพิเศษเพื่อดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นเวลา 120 วัน 
 
มติดังกล่าวจะครอบคลุมแรงงานเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่เคยได้รับการผ่อนผันมาก่อนหน้านี้และไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติได้ทันตามกำหนดเวลาเดิม คือวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555 รวมทั้งแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารใดๆ เลย หรือไม่เคยได้รับการผ่อนผัน หรือได้รับการผ่อนผันแต่การผ่อนผันนั้นสิ้นสุดลงแล้ว รวมถึงลูกหลานของแรงงานข้ามชาติที่มีอายุไม่เกิน 15 ปีด้วย ก็เข้าข่ายตามมติครม.นี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็มีหลายฝ่ายได้ออกมาแสดงให้เห็นว่าการแก้ปัญหาเช่นนี้ อาจไม่ใช่หนทางที่จะแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติได้จบสิ้น 
 
โดยนายอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนจากองค์กรเครือข่ายที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ (migrant working group) ออกมาระบุว่า “มติครม.ครั้งนี้ค่อนข้างเปิดกว้างให้แก่แรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย และยังไม่ได้รับหนังสือเดินทาง รวมถึงยังครอบคลุมไปถึงลูกของแรงงานข้ามชาติที่อายุไม่เกิน 15 ปีด้วย 
 
อย่างไรก็ตามแรงงานข้ามชาติที่จะต้องเข้าถึงการดำเนินการตามมติครม.ได้ ก็จะต้องเป็นแรงงานที่มีนายจ้างแล้ว เพราะนายจ้างจะต้องเป็นผู้ดำเนินการยื่นเอกสารทั้งหมดภายในระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งหากรวมจำนวนตัวเลขของแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติที่อยู่ในประเทศไทยทุกคน รวมถึงลูกของแรงงานข้ามชาติ คาดการณ์ว่าน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน จึงกังวลว่ากรมการจัดหางานจะดำเนินการได้ทันตามกำหนดเวลา 120 วัน หรือไม่ 
 
นอกจากนี้ การระบุให้นายจ้างจะต้องส่งเอกสารความต้องการการจ้างงาน และสัญญาต่างๆ ภายในระยะเวลา 1 เดือน ถือเป็นเวลาที่ค่อนข้างสั้นในการดำเนินการ ดังนั้นหากนายจ้างไม่รับรู้ข้อมูล ไม่ดำเนินการให้ หรือดำเนินการไม่ทันตามกำหนดระยะเวลา แรงงานข้ามชาติก็จะไม่สามารถขอหนังสือเดินทาง หรือขอทำงานต่อไปได้  ซึ่งระยะเวลาที่สั้นและต้องเร่งดำเนินการนี้จึงทำให้มีความเป็นไปได้ ที่นายจ้างและแรงงานข้ามชาติ จะต้องดำเนินการผ่านบริษัทนายหน้า ที่รับดำเนินการขอจัดทำหนังสือเดินทางและขออนุญาตทำงานให้ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่จะสูงขึ้นไปด้วย 
 
ท้ายที่สุดค่าใช้จ่ายนี้ก็จะถูกผลักภาระมาเป็นหน้าที่ของแรงงานข้ามชาติ และอาจมีแรงงานหลายคนที่ไม่สามารถ ไม่มีกำลังที่จะหาค่าใช้จ่ายมาดำเนินการตามกระบวนการได้” ตัวแทนจากองค์กรเครือข่ายที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ (migrant working group)
 
ด้านตัวแทนแรงงานข้ามชาติจาก จ.สมุทรปราการ กล่าวถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากมติครม.ดังกล่าวว่า “สำหรับแรงงานข้ามชาติที่มีนายจ้างอยู่แล้วอาจไม่ได้รับผลกระทบมาก แต่กรณีของแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีนายจ้าง และอยู่ในภาวะสุญญากาศ จากการหานายจ้างใหม่ จะได้รับผลกระทบและไม่สามารถขอพิสูจน์สัญชาติได้ จนต้องถูกผลักดันกลับประเทศ โดยสาเหตุหลักๆ ของการที่แรงงานต้องหานายจ้างใหม่ อาทิ ค่าจ้างที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงก่อนทำงานและหลังทำงาน ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำงาน เป็นต้น 
 
นอกจากนี้สิ่งที่เป็นปัญหาคือ ค่าใช้จ่าย ที่จะต้องเพิ่มขึ้นมากตามลำดับ โดยแรงงาน 1 คน จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินเรื่องผ่านนายหน้าเกือบสองหมื่นบาท ทั้งๆที่ความเป็นจริงค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์สัญชาติประมาณ 6 พันบาทเท่านั้น  
 
แต่ข้อจำกัดคือ แรงงานข้ามชาติ ไม่สามารถดำเนินการได้เอง ด้วยข้อจำกัดทั้งข้อกฎหมาย ภาษาที่ไม่สามารถสื่อสารกับเจ้าหน้าที่รัฐได้  รวมถึงนายจ้างบางคนไม่เข้าใจและไม่มีความรู้ในกระบวนการเหล่านี้ จึงทำให้ต้องดำเนินการผ่านนายหน้า และจากมติครม.ครั้งนี้ ที่มีการจำกัดระยะเวลา จะเป็นการเพิ่มอัตราการเติบโตของกระบวนการนายหน้าอย่างทวีคูณ 
 
ดังนั้นทางแก้คือรัฐควรหาแนวทางการพิสูจน์สัญชาติวิธีใหม่ โดยให้แรงงานสามารถยื่นเรื่องผ่านเจ้าหน้าที่รัฐด้วยตนเอง โดยมีล่ามคอยให้ข้อมูลกับแรงงานข้ามชาติในการเข้าไปยื่นเรื่อง และมีการดำเนินการไม่ควรยุ่งยาก ซับซ้อนเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนั้นแล้วรัฐควรมีระบบควบคุมบริษัทที่รับทำหน้าที่เป็นนายหน้ามิให้เรียกค่าใช้จ่ายที่แพงเกินไป และมีมาตรการลงโทษอย่างจริงต่อบริษัทนายหน้าเหล่าที่ทำผิดกฎหมาย หรือเอารัดเอาเปรียบกับต่อแรงงานและนายจ้าง
 
ไม่เช่นนั้นแล้วหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้การหาผลประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติก็คงไม่จบสิ้น ทั้งจากนายหน้า หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐไทย เจ้าหน้าที่รัฐจากประเทศต้นทาง และกระทั่งนายจ้างเองก็ยังเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติจากกระบวนการเหล่านี้ด้วย” ตัวแทนแรงงานข้ามชาติจาก จ.สมุทรปราการระบุ
 
จากการเก็บข้อมูลของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ พบว่า มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ที่จะต้องเสียเงินจากกระบวนการนอกกฎหมาย และแม้กระทั่งนายจ้างในหลายบริษัทเองก็ยังไม่ได้ให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนพิสูจน์สัญชาติ โดยบางบริษัทก็เรียกรับเงินจากแรงงานด้วยการให้ข้อมูลที่ผิดๆ 
 
นอกจากนี้จากการเก็บข้อมูลพบว่า บริษัทนายหน้าที่รับดำเนินการเรื่องการขึ้นทะเบียนพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติ มีบริษัทที่จดทะเบียนเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้มากถึง 99 บริษัท และบางแห่งที่จดทะเบียนเป็นบริษัทที่มีเจ้าของเดียวกัน ซึ่งการกระทำเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงความเฟื่องฟูของธุรกิจดังกล่าว มิหนำซ้ำยังมีความเสี่ยงในการผูกการการดำเนินการ รวมตัวกัน เพื่อปั่นราคา  ในการพิสูจน์สัญชาติแรงงานด้วย 
 
ท้ายที่สุดแล้ว ชะตากรรมของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเวรกรรม แต่ขึ้นอยู่กับความโปร่งใส ถูกต้อง และยุติธรรม ในการดำเนินการของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
 


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง