รถไฟฟ้าสายสีแดง เริ่มแล้วจะเสร็จ ปี 2559 ระยะทาง 21 กม. งบฯ 2 หมื่นล้าน

เศรษฐกิจ
31 ม.ค. 56
11:21
3,405
Logo Thai PBS
รถไฟฟ้าสายสีแดง เริ่มแล้วจะเสร็จ ปี 2559 ระยะทาง 21 กม. งบฯ 2 หมื่นล้าน

คมนาคม ลงนามจ้าง"อิตัลไทย" ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญา 2 ก่อสร้างงานโยธา รวมระยะทาง 21 กิโลเมตร มูลค่ากว่า 2หมื่นล้านบาท

 ภัทราพร ตั๊นงาม  ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส  รายงานว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาจ้าง โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ - รังสิต สัญญา 2 (งานโยธาสำหรับทางรถไฟบางซื่อ - รังสิต) ระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดย นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) โดย นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทยฯ  

 
โครงการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต ซึ่งการรถไฟฯ ซึ่ง อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด และได้สิทธิการก่อสร้างในสัญญา 2 มีขอบเขตการดำเนินงานประกอบด้วย 
 
1. การก่อสร้างสถานีพร้อมอาคารสถานี จำนวน 6 สถานี ได้แก่ สถานีบางเขน ทุ่งสองห้อง หลักสี่ การเคหะ ดอนเมือง และรังสิต 
2. การก่อสร้างทางรถไฟยกระดับบนโครงสร้างคานสำเร็จรูปทรงกล่องพาดบนหัวเสาคอนกรีตหรือกรอบคานเสาคู่ 
3. การก่อสร้างทางรถไฟยกระดับบนฐานเสาเข็ม จาก กม. 12 + 201.700 - กม. 25 + 232
4. การก่อสร้างทางรถไฟระดับดิน จาก กม. 25 + 232 - กม. 32 + 350
5. การจัดการถนนเลียบทางรถไฟ และระบบระบายน้ำ 
6. งานดัดแปลง ปรับปรุง หรือย้ายโครงสร้างโครงการโฮปเวลล์ 
7. งานโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขยายสถานีวัดเสมียนนารี และสถานีหลักหกในอนาคต 
 
ระยะทาง 21 กิโลเมตร มูลค่าการก่อสร้าง 21,235,400,000 บาท 
 
สำหรับสถานีของโครงการฯ จะมีรูปแบบและลักษณะที่แตกต่างกัน เพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลาย แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 
สถานีประเภทที่ 1 เป็นสถานียกระดับ จำนวน 3 ชั้น รองรับรถไฟฟ้าชานเมือง ได้แก่ สถานีจตุจักร วัดเสมียนนารี (สถานีในอนาคต) บางเขน ทุ่งสองห้อง และหลักสี่ ลักษณะของสถานี ดังนี้ 
 
ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่จอดรถรับ - ส่งผู้โดยสาร 
ชั้นที่ 2 เป็นชั้นจำหน่ายตั๋ว 
ชั้นที่ 3 เป็นชานชาลารถไฟฟ้าชานเมือง 
 
สถานีประเภทที่ 2 เป็นสถานียกระดับ จำนวน 4 ชั้น รองรับทั้งรถไฟฟ้าชานเมือง และรถไฟทางไกล ได้แก่ สถานีดอนเมือง ลักษณะของสถานี ดังนี้ 
ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่จอดรถรับ - ส่งผู้โดยสาร 
ชั้นที่ 2 เป็นชั้นจำหน่ายตั๋ว 
ชั้นที่ 3 เป็นชานชาลารถไฟฟ้าทางไกล 
ชั้นที่ 4 เป็นชานชาลารถไฟฟ้าชานเมือง 
 
สถานีประเภทที่ 3 เป็นสถานียกระดับ จำนวน 3 ชั้น เพื่อรองรับรถไฟชานเมือง และสถานีระดับพื้น เพื่อรองรับรถไฟทางไกล ได้แก่ สถานีรังสิต ลักษณะของสถานี ดังนี้ 
ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่จอดรถรับ - ส่งผู้โดยสาร และเป็นชานชาลาสำหรับรถไฟทางไกล 
ชั้นที่ 2 เป็นชั้นจำหน่วยตั๋ว 
ชั้นที่ 3 เป็นชานชาลารถไฟฟ้าชานเมือง 
 
 
โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ - รังสิต จะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2559 และสามารถรองรับการให้บริการประชาชนระหว่างพื้นที่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ กับ ปริมณฑล ขยายความเจริญและการพัฒนาที่อยู่อาศัยไปยังย่านชานเมือง ช่วยลดปัญหาการจราจรและความแออัดของกรุงเทพฯ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างยั่งยืน ด้วยระบบรถไฟฟ้าโฉมใหม่ที่มีความเร็วสูง สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ทันสมัย และตรงต่อเวลา 
 
 
 
 
    


ข่าวที่เกี่ยวข้อง