เตรียมรวมพลคนจิตอาสา สร้างกระแส"คนไทยขอมือหน่อย" สำรวจพบคนอยากช่วยพัฒนาชาติ

สังคม
4 ก.พ. 56
10:45
111
Logo Thai PBS
เตรียมรวมพลคนจิตอาสา สร้างกระแส"คนไทยขอมือหน่อย" สำรวจพบคนอยากช่วยพัฒนาชาติ

เผยผลสำรวจคนไทย มอนิเตอร์ฯปีล่าสุด พบเผชิญปัญหาปากท้อง ครอบครัว มลภาวะ รวมตัวจัด รวมพลจิตอาสาครั้งแรกของไทย “คนไทยขอมือหน่อย” ชี้ต้องชูให้เด็กเห็นเป็นตัวอย่างน้ำใจคนไทย หนุนสร้างสังคมจิตอาสา เปิด TIMEBANK ธนาคารรับฝากเวลาอาสาสมัครจิตอาสา

 เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ มูลนิธิเพื่อ “คนไทย” ร่วมกับมหา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายองค์กรต่างๆ จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ“คนไทยขอมือหน่อย คนละไม้คนละมือเพื่อสังคมน่าอยู่”

 
โดยนายวิเชียร พงศธร ประธานมูลนิธิเพื่อ “คนไทย” กล่าวว่า จากการสำรวจความคิดเห็นคนไทย 100,000 คนทั่วประเทศโดยโครงการ “คนไทย” มอนิเตอร์ เสียงนี้มีพลัง เพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยและภาพรวมของการพัฒนาประเทศ พบว่าสังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจครัวเรือน รายได้ไม่พอกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ปัญหาสภาวะแวดล้อมทางมลภาวะอากาศ และภัยพิบัติ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง การทุจริตคอร์รัปชั่น ปัญหาการใช้เวลากับคนในครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครองไม่มีเวลาให้บุตรหลาน แต่จากเสียงสะท้อนเรื่องการมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในทิศทางที่ดีขึ้นของประชาชนพบว่า ร้อยละ71 เห็นว่าการมีส่วนร่วม คือการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การไม่สร้างปัญหาให้แก่สังคมและประพฤติตนให้ถูกต้องเหมาะสม ยึดถือในศีลธรรม จริยธรรมและคุณงามความดี ขณะที่มีเพียงร้อยละ 16 ให้ความร่วมมือในกิจกรรมการพัฒนาชุมชน/สังคม สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยยังต้องการประชาชนคนไทยจากทุกภาคส่วนมาร่วมมือ ลงมือปฏิบัติ ให้เกิดการพัฒนาเพื่อความอยู่ดีมีสุขที่ยั่งยืนของสังคมไทย
 
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า งาน “คนไทยขอมือหน่อยฯ” ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 2-3 มี.ค.นี้ ที่ลานเซ็นทรัลเวิลด์ ถือเป็นเทศกาลรวบรวมคนลงมือครั้งแรกที่ใหญ่ที่สุดของไทย มีองค์กรที่ทำงานเพื่อสังคมมากกว่า 200 แห่ง การจัดงานครั้งนี้สอดคล้องกับผลสำรวจดังกล่าวที่ สะท้อนคุณสมบัติที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของคนไทย คือ ความมีน้ำใจ ใจกว้าง ชอบช่วยเหลือผู้อื่น สสส. มีส่วนร่วมผลักดันสังคมไทยเป็น “สังคมจิตอาสา” ปลูกฝังแนวคิดจิตอาสาให้กับประชาชนให้เป็น “พลเมืองอาสา” หรือ Active Citizen ที่พร้อมจะช่วยเหลือและพัฒนาสังคมในทุกสถานการณ์ โดยได้ร่วมกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม พัฒนาระบบสนับสนุนโอกาสการเข้าถึงงานอาสาคือ ธนาคารจิตอาสา (TIMEBANK) เพิ่มช่องทางการเข้าถึงของประชาชนที่สนใจอยากทำงานช่วยเหลือสังคม ซึ่งขณะนี้มีอาสาสมัครมาลงทะเบียนฝากจำนวนเวลาที่อยากทำงานอาสาสมัครเกือบ 60,000 ชั่วโมง นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ออกระเบียบสนับสนุนให้ข้าราชการมีสิทธิลางานไปทำงานอาสาสมัคร และโรงเรียนได้กำหนดชั่วโมงการทำงานอาสาให้แก่นักเรียนด้วย
 
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ในฐานะประธานการจัดงาน กล่าวว่า จิตสำนึก แบ่งได้เป็น 1. จิตสำนึกทำเพื่อตนเอง และ 2. จิตสำนึกทำเพื่อส่วนรวม หากทั้งคิดและลงมือทำเพื่อส่วนรวมโดยเสียสละส่วนตนไม่ว่าจะลงมือทำ หรือสละทรัพย์สินเพื่อผู้อื่นจะเรียกว่าความมีจิตสาธารณะ ซึ่งคนไทยเป็นผู้ที่มีลักษณะของจิตสาธารณะอยู่เป็นทุนเดิม เห็นได้จากองค์กรเพื่อสังคมมีมากว่า 30-40 ปี เห็นได้ว่าสังคมที่ประชากรนึกถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งก็จะเป็นสังคมที่เข้มแข็งมีความสามัคคี แต่หากสังคมเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตนก็จะอ่อนแอ เพราะต่างคนต่างทำเพื่อตนเอง การจัดงานในครั้งนี้ จึงเป็นการย้ำและเตือนให้เห็นความสำคัญของการมีจิตสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรม ที่ต้อง พูด คิด และลงมือทำ
 
ภายในงานวันที่ 2-3 มี.ค. นี้ มีเวทีเสวนาที่น่าสนใจ อาทิ ปาฐกถา อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ในหัวข้อ มหามวลมิตรการพัฒนาประเทศไทย โดย นพ.ประเวศ วะสี เป็นองค์ปาฐก การต่อต้านคอร์รัปชั่นการให้เพื่อสังคม การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน ศาสนาร่วมสมัย ฯลฯ ซึ่งน่าจะเป็นการจุดประกายความคิด ด้านการมีส่วนร่วมให้มีมากขึ้นในสังคมไทย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง