"นักโภชนาการ-สสส." เผยเด็กไทยเสี่ยงอ้วน ชี้ห่วงเด็กป่วยเลาหวานเพิ่มขึ้น

สังคม
7 ก.พ. 56
08:29
253
Logo Thai PBS
"นักโภชนาการ-สสส." เผยเด็กไทยเสี่ยงอ้วน ชี้ห่วงเด็กป่วยเลาหวานเพิ่มขึ้น

โครงการพัฒนาต้นแบบโรงเรียนเด็กไทยดูดีฯ - สสส. เผยผลสำรวจ เด็กไทยเสี่ยงภัยอ้วน เด็กประถมเกือบ 70% ไขมันในเลือดสูง อีก 20% เป็นโรคอ้วน เหตุกิน หวาน มัน เค็ม ออกกำลังกายน้อย กินผักผลไม้ลดลง น่าห่วง 1 ใน 3 ของเด็กไทย คอมีรอยปื้นดำ สัญญาณเตือนเบาหวาน แนะรัฐ ครู พ่อแม่ ต้องมีส่วนร่วม สร้างพฤติกรรมการบริโภคตั้งแต่เล็ก

รศ.พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการแถลงข่าว “ภัยคุกคามเด็กไทย เสี่ยงภัยโรคหัวใจในอนาคต” ว่า จากการสำรวจของโครงการพัฒนาต้นแบบโรงเรียนเด็กไทยดูดี มีพลานามัย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า นักเรียนในเขตกทม.มีสัดส่วนโรคอ้วนมากที่สุด โดยในปี 2555 ผลการสำรวจในเครือข่ายโรงเรียนภาครัฐ 4 โรงเรียน นักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1-6 มีอัตราการเกิดโรคอ้วน ร้อยละ 21 ไขมันในเลือดสูง ร้อยละ 66  ใกล้เคียงกับการสำรวจในระยะแรกเมื่อปี 2547-2549 ที่พบว่า เด็กไทยเกิดโรคอ้วน ร้อยละ 20  มีไขมันในเลือดสูงถึง ร้อยละ 78 และพบ 1 ใน 3 ของเด็กอ้วน มีปื้นดำที่คอเป็นสัญญาณเตือนถึงความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด สะสมตั้งแต่วัยเด็ก และหากเด็กยังคงความอ้วนต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ย่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในอนาคต ปัญหาโรคอ้วนเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน นมเปรี้ยว รวมทั้งขนมกรุบกรอบ และยังบริโภคผักผลไม้น้อย ขาดวินัยในการบริโภคอาหารเป็นเวลา ใช้เวลาในการดูทีวีและเล่นเกมมากกว่าการวิ่งเล่นออกกำลังกาย

“ปัจจุบันโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มักเกิดจากพฤติกรรมกินอยู่ที่ไม่ถูกต้องและการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ซึ่งกำลังกลายเป็นปัญหาของคนเกือบทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุการตายและปัญหาสาธารณสุขหนึ่งในสามลำดับแรกของไทย สำหรับพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องนี้จะเริ่มขึ้นตั้งแต่ในวัยเด็ก เนื่องจากสังคมไทยได้รับอิทธิพลจากประเทศตะวันตก อาหารที่บริโภคเป็นประจำจึงกลายเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง มีรสจัดทั้งหวาน มัน และเค็ม ในขณะที่อัตราการบริโภคผักและผลไม้ซึ่งให้คุณประโยชน์ต่อร่างกายกลับลดลง รวมทั้งขาดการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมดังนั้น จึงจำเป็นต้องหาทางแก้ปัญหาร่วมกันโดยวางแผนตั้งแต่วัยเด็ก” รศ.พญ.ชุติมา กล่าว

ขณะที่ รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส. กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา ยิ่งในปัจจุบันนี้ที่มีสิ่งเร้าอยู่รอบตัวเด็กมากไปหมด การสร้างนิสัยและความรู้เท่าทันให้เด็กได้เลือกหรือตัดสินใจเองอย่างมีเหตุมีผลต่อสุขภาพที่ดีของตัวเองนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจำเป็นต้องใช้การมีส่วนร่วมของผู้บริหารทุกระดับในการกำหนดนโยบาย โดยครู และผู้ปกครอง มีส่วนสำคัญในการให้ความรู้และจัดหาอาหารที่เหมาะสม ควบคุมสิ่งแวดล้อมในและรอบโรงเรียนให้ปลอดจากอาหารที่เป็นภัยต่อสุขภาพ และผู้ใหญ่ควรเป็นตัวแบบของการบริโภค เช่น การทานอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ลดหวานมันเค็ม เพิ่มผักผลไม้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งในแต่ละมื้ออาหาร เลือกทานอาหารที่ผลิตได้ในท้องถิ่น และเพิ่มการมีกิจกรรมทางกาย ลดเวลานั่งนอนหน้าจอทีวีหรือคอมพิวเตอร์ลง

“การที่กระทรวงศึกษาธิการมีแนวทางว่าจะลดภาระการทำการบ้านของเด็กลง และบูรณาการการเรียนการสอนในวิชาต่างๆ เข้ามาด้วยกันนั้น น่าจะเป็นโอกาสให้โรงเรียนนำเอาเรื่องของความรู้ด้านโภชนาการและการออกกำลังกายใส่เข้าไว้ในการบูรณาการครั้งนี้ด้วย ทำให้เป็นเรื่องที่สนุกแต่สามารถส่งผลต่อการสร้างเสริมพฤติกรรมของเด็กๆ ได้อย่างยั่งยืน” รศ.ดร.วิลาสินี กล่าว 

ภาพประกอบ : www.manager.co.th


ข่าวที่เกี่ยวข้อง