พบวัยรุ่นเปิดเพจ “สอนเสพยาแก้ไอ” ซื้อขายง่ายไร้เงาเภสัชกร

สังคม
7 ก.พ. 56
09:03
5,861
Logo Thai PBS
พบวัยรุ่นเปิดเพจ “สอนเสพยาแก้ไอ” ซื้อขายง่ายไร้เงาเภสัชกร

วัยรุ่นยุคโซเชียลมีเดีย เปิดเฟซบุ๊คแนะแหล่ง "ขายยาแก้ไอ-ยาอันตราย" พร้อมวิธีเสพ วัยรุ่นแห่ลอง ร้านขายยาหัวใสจัดยาชุดพร้อมขายสนองความต้องการ ภก.ชี้กินเกินขนาดอาจเสพติด อย.ลั่นหากควบคุมไม่ได้สั่งถอนทะเบียนยา

ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ “หอข่าว” มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สังเกตพฤติกรรมการใช้ยาแก้ไอในทางที่ผิดของกลุ่มวัยรุ่นรอบมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีข่าวเกี่ยวกับการใช้ยาแก้ไอในทางที่ผิด รวมถึงการจับกุมร้านขายยาปรากฏอยู่ตลอดเวลา แต่กลุ่มวัยรุ่นก็ยังคงมีพฤติกรรมในการใช้ยาดังกล่าวอยู่ ผู้สื่อข่าวจึงได้เข้าไปตรวจสอบตัวยาแก้ไอที่วัยรุ่นนิยมใช้ผ่านเว็บไซต์ กูเกิล (www.google.co.th) และเฟซบุ๊ค (www.facebook.com) โดยค้นหาจากชื่อยายี่ห้อหนึ่งที่เป็นที่นิยมพบว่ามีแฟนเพจ (Fanpage) ในเฟซบุ๊กปรากฏอยู่หลายเพจ เช่น ProxxxxxLOVE, ProxxxxxThailand, I love Proxxxxx ซึ่งในแฟนเพจต่างๆ ได้โพสต์รูปที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาผิดวัตถุประสงค์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปบรรจุภัณฑ์ของยาแก้ไอหลากหลายยี่ห้อเป็นจำนวนมาก ทั้งชนิดน้ำและชนิดเม็ดรวมไปถึงตัวยาแก้ไอหลังจากผสมเสร็จเรียบร้อยแล้ว

จากการตรวจสอบเพจในเฟซบุ๊ค ProxxxxxLOVE และ ProxxxxxThailand พบว่าหน้าเพจเหล่านี้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนข้อมูลและสนทนากันของเหล่าวัยรุ่นที่นิยมใช้ยาในทางที่ผิด มีทั้งการแนะนำบอกต่อกันถึงสูตรตัวยาใหม่ๆ และร้านที่มีการจำหน่ายอยู่ตามสถานที่ต่างๆทั่วกรุงเทพฯ

หากสมาชิกคนใดหาซื้อไม่ได้หรือต้องการยาก็จะมีการโพสต์ข้อความสอบถามสถานที่ของร้านที่ขายยาประเภทดังกล่าว ภายในเพจจะมีสมาชิกคนอื่นคอยตอบและให้ข้อมูล อีกทั้งยังมีสมาชิกบางรายประกาศจำหน่ายยาเป็นชุดๆสำหรับใช้ผสมแบบครบครันโดยให้ติดต่อทางโทรศัพท์และแอด(Add)เพื่อนทางเฟซบุ๊ก  ซึ่งสมาชิกที่มีการโฆษณาจำหน่ายยาแก้ไอเหล่านั้นไม่ใช่เภสัชกรแต่อย่างใด นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบสมาชิกที่อยู่ในแฟนเพจ พบว่ามีเยาวชนที่เป็นนักเรียนเป็นสมาชิกอยู่จำนวนมาก และเยาวชนเหล่านี้ยังมีการโพสต์ข้อความสอบถามถึงวิธีการซื้อวิธีการกินจากสมาชิกคนอื่นภายในเพจ

ผู้ใช้ชื่อในเฟซบุ๊กว่า MrPhoorithat xxx ระบุตอนหนึ่งในโพสต์ว่า “ท่านใดอยู่แถวรังสิต สนใจโปรเดลิเวอรี่ ชุด150จัดส่งช่วงเย็นเป็นต้นไป เม็ดม่วง (Alprazolam)เม็ดละ 20 บาท 080251xxxx เป้คับ เม็ดม่วงแล้วแต่นะครับเพราะของมันขาดบ่อยครับ”


 

ผู้ใช้ชื่อในเฟซบุ๊คว่า Han Brxxxx หนึ่งในสมาชิกแฟนเพจของ ProxxxxxLOVE และ ProxxxxxThailand ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายยาแก้ไอได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ได้รับประทานยาแก้ไออยู่เป็นประจำ และมีการจำหน่ายให้แก่ผู้ที่ติดต่อหรือต้องการยาซึ่งมีทั้งชนิดน้ำและเม็ด โดยจะสั่งมาครั้งละจำนวนมากๆ จากร้านขายยาย่านจรัญสนิทวงศ์เพื่อรับประทานเองและจำหน่ายเพราะมีราคาถูกกว่าซื้อเป็นชุดๆ โดย 1 ลังจะอยู่ที่ราคา 4,800 บาท มี 48 ขวด ยาเม็ดแผงละ 25 บาท นำมาแบ่งขายต่อในราคาชุดละ 140 บาท ซึ่งมียาน้ำ 1 ขวดกับยาเม็ด 1 แผง ซึ่งร้านขายยาดังกล่าวไม่จำหน่ายยาแก้ไอให้แก่บุคคลแปลกหน้าเกิน 2 ชุดแต่จะขายเป็นจำนวนมากๆ ให้แก่คนที่รู้จักและลูกค้าประจำเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวได้ลงสำรวจตามร้านขายยาต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในแฟนเพจบนเฟซบุ๊กตามคำแนะนำจากสมาชิกว่า มีการจำหน่ายยาแก้ไอและยายี่ห้อต่างๆ ที่เป็นส่วนผสม โดยผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านขายยาจำนวน 9 ร้านในหลายเขตทั่วกรุงเทพฯ ได้แก่ จรัญสนิทวงศ์ ห้วยขวาง ประชาสงเคราะห์ อินทามระ พหลโยธิน บางเขน และรามคำแหง พบว่าร้านขายยาทั้ง 9 ร้านมีการจำหน่ายยาแก้ไอจริง

ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อขอซื้อยาแก้ไอจากร้านขายยาทั้ง 9 ร้าน พบว่า เกือบทุกร้านที่มีการจำหน่ายยาแก้ไอได้มีการจัดยาเป็นชุดๆ สำหรับขายให้กลุ่มวัยรุ่นโดยเฉพาะ คือเมื่อเข้าไปสั่งซื้อยาที่ใช้สำหรับผสมเครื่องดื่มยาแก้ไอ ร้านขายยาก็จะจัดยาให้เป็นชุด ซึ่งในหนึ่งชุดประกอบด้วยยาน้ำ 1 ขวด และยาเม็ดจำนวนหนึ่ง โดยที่ผู้ซื้อไม่ต้องสั่งชื่อตัวยาทั้ง 2ชนิด ไม่ต้องบอกอาการที่เจ็บป่วยและทางร้านขายยาก็ไม่ได้มีการซักถามถึงอาการที่จำเป็นต้องใช้ยาแต่อย่างใด โดยกลุ่มวัยรุ่นที่ใช้ยาประเภทนี้อยู่เป็นประจำ จะมีคำศัพท์ที่ใช้เฉพาะในการสั่งซื้อกับร้านขายยาและร้านขายยาก็จะจัดชุดยาตามยี่ห้อที่ต้องการมาให้พร้อมกับยาเม็ด ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า นอกจากนี้ร้านขายยาบางร้านยังมีการแนะนำยาแก้ไอยี่ห้ออื่นๆ ที่สามารถรับประทานแทนกันได้หากยายี่ห้อที่ผู้ซื้อต้องการหมด ซึ่งยาที่ร้านขายยาแนะนำนั้นก็จะเป็นยาที่ออกฤทธิ์ ทำให้เกิดอาการมึนเมาและเป็นยี่ห้อที่นิยมใช้ของกลุ่มวัยรุ่นเช่นเดียวกัน

จากการสอบถามร้านขายยา ผู้สื่อข่าวได้ขอซื้อตัวยาที่ชื่อ อัลปราโซแลม (Alprazolam) ซึ่งเป็นยาที่กลุ่มวัยรุ่นนิยมกินควบคู่กับตัวยาแก้ไอน้ำและยาเม็ดเพื่อเสริมฤทธิ์ของยา จากจำนวน 9 ร้านพบว่า มี 2 ร้านที่มีการจำหน่ายยาตัวนี้ ซึ่งยาอัลปราโซแลมนั้นจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทที่ 4 ตามพ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 การที่จะขายได้ต้องมีใบสั่งแพทย์และต้องทำใบขออนุญาตในการจำหน่ายจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)เท่านั้น จากการติดต่อขอซื้อยาดังกล่าว ผู้สื่อข่าวไม่ได้มีใบสั่งแพทย์และไม่ได้มีอาการหรือความจำเป็นในการใช้ยา ซึ่งร้านขายยาก็ไม่ได้มีการถามถึงอาการหรือมีการซักถามประวัติการเจ็บป่วยแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อไปว่า ร้านขายยาบางแห่งยังมีการจำหน่ายยาแก้ไอ โดยใช้วิธีการจัดส่งให้ถึงที่ซึ่งไม่ต้องไปซื้อด้วยตัวเอง โดยผู้ขายจะขี่รถจักรยานยนต์มาส่งยังจุดที่ผู้ซื้อได้นัดหมาย ซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกันกับร้านขายยา โดยยาอันตรายที่นำมาส่งนั้นถูกห่ออยู่ในบรรจุภัณฑ์ของยายี่ห้ออื่นและมีกระดาษห่อทับด้วยกระดาษอีกชั้นอย่างแน่นหนา โดยร้านเหล่านี้จะจัดส่งและจำหน่ายให้เฉพาะลูกค้าประจำเท่านั้น

เด็กวัยรุ่นเผยซื้อยาโดยง่าย เด็กชายต้น (นามสมมติ) อายุ 17 ปี นักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า รับประทานยาแก้ไอมาระยะหนึ่ง เพราะเพื่อนแนะนำให้ลองโดยซื้อจากร้านขายยาแถวบ้านซึ่งเป็นร้านประจำเมื่อเข้าไปสั่งชื่อยาที่ต้องการ ทางร้านขายยาก็จะจัดยามาให้เป็นยาน้ำกับแคปซูลโดยไม่ต้องบอกว่าเอาอะไรบ้าง แต่ถ้าหากไม่ใช่ร้านที่เป็นร้านประจำเมื่อสั่งชื่อยาร้านขายยาก็จะถามว่าเอายาแผงด้วยหรือไม่ โดยที่ซื้อเป็นประจำจะอยู่ที่ราคา 60-70 บาทต่อหนึ่งชุดแล้วแต่ขนาดและยี่ห้อของยา รับประทานโดยผสมกับน้ำอัดลมหากรับประทานเข้าไปแล้วจะเกิดอาการมึน และมีอาการกระตุกเล็กน้อยในเวลานอน

ไอซีทีเตือนหยุดเผยแพร่ข้อมูลการใช้ยาที่ผิด นายณัฐ พยงค์ศรี นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) กล่าวว่า สื่อสังคมออนไลน์นั้นสามารถสื่อสารได้อย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ข้อความหรือรูปของยา กระทรวงไอซีทีมีการประสานงานความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขอยู่เป็นประจำในเรื่องของยาเสพติดหรือยาที่ผิดกฎหมาย การโพสต์รูปเกี่ยวกับการใช้ยาในทางที่ผิดอย่างเช่น การใช้ยาแก้ไอในทางที่ไม่เหมาะสมเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอยู่แล้ว ถ้ามีประชาชนแจ้งเข้ามาทางกระทรวงไอซีทีก็จะส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญอย่างเช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาตรวจสอบว่าผิดกฎหมายของอย.หรือไม่ ถ้าผิดทางกระทรวงไอซีทีจะดำเนินการส่งต่อไปยังสำนักงานอื่นๆ เช่นสำนักงานตำรวจ เพื่อติดตามผลต่อไปว่า กลุ่มนี้มีการดำเนินการเช่นนั้นจริงและมีความผิดหรือไม่ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการกระทรวงไอซีทีกล่าวต่อไปว่า การควบคุมเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับทางอย.มากกว่าไอซีทีแต่จะมีการประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง ปัญหานี้จะคล้ายกับเว็บอื่นๆ ทั่วไป หากเจอความผิดอะไรไม่เหมาะสมจะประสานไปยังอย.

โดยการเก็บหลักฐานหน้าเว็บไซต์นั้น ตัวยาที่ใช้ เว็บไซต์ตั้งอยู่ที่ไหน เซิฟเวอร์อะไร ใครจดทะเบียน ให้อย.ตรวจสอบ ว่ามีใบอนุญาตหรือไม่ ต้องมีใบอนุญาตสำหรับยาตัวนั้นหรือไม่ และที่สำคัญต้องดูด้วยว่าเป็นยาต้องห้ามหรือไม่

“ด้านการส่งผลต่อเยาวชนนั้น ถ้าเป็นเด็ก เยาวชนหรือวัยรุ่นเมื่อไปเห็นรูปหรือกรรมวิธีการใช้ยาผิดๆ ที่ปรากฏในสื่ออินเทอร์เน็ตแล้วอาจจะคิดว่าเท่ทำให้ส่งผลเกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ แต่ที่สำคัญผู้ปกครองควรให้เวลาดูแลบุตรหลานด้วยในการเข้าใช้อินเทอร์เน็ต ว่ามีการเข้าไปรับชมเว็บไซต์เหล่านี้หรือไม่ ทั้งนี้การจ่ายยาควรจ่ายโดยแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางมากกว่า อย่าไปซื้อกินเองโดยไม่มีความรู้” นายณัฐกล่าว

ภก.ชี้ตัวยาผสมโคเดอีน ภญ.สิริกัญญา กอบวรรธนะกุล หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกร วชิรพยาบาลกล่าวว่า กลุ่มวัยรุ่นมักรับประทานยาแก้ไอเพื่อหวังผลจากฤทธิ์ของยา ซึ่งสามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยา โดยตัวยาจะมีส่วนผสมของโคเดอีน (Codeine)ผสมอยู่ ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของสารเสพติดหากรับประทานในปริมาณที่น้อยจะช่วยในระงับอาการเจ็บปวดหรืออาการไอ แต่หากรับประทานในปริมาณที่มากจะทำให้เกิดอาการเสพติดได้ ส่วนยาอัลปราโซแลมนั้นเป็นยาที่มีการควบคุมจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไม่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป มีเพียงในโรงพยาบาลสำหรับจ่ายให้แก่ผู้ป่วยเท่านั้น หรือถ้ามีก็จะเป็นร้านขายยาใหญ่ๆที่มีการขออนุญาตจากอย. หากจะจำหน่ายหรือจ่ายให้แก่ผู้ป่วยต้องมีการจำกัดจำนวนในการจ่ายรวมถึงบันทึกชื่อที่อยู่ของคนไข้ไว้เพื่อทำเป็นรายงานส่งให้อย.ตรวจสอบ

 

ภญ.สิริกัญญากล่าวต่อว่า การที่ร้านขายยามีการแนะนำยาให้แก่ผู้ซื้อเพื่อนำไปใช้ในทางที่ผิดสามารถแจ้งทางอย.ให้ดำเนินคดีตามกฎหมายได้เพราะสำนักสภาเภสัชกรรมและอย.จะมีการตรวจสอบร้านขายยาอยู่แล้ว หากมีการจำหน่ายยาที่มีการกำหนดห้ามขายหรือมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตก็อาจถูกดำเนินคดีและเพิกถอนใบประกอบโรคศิลป์ได้

ภก.รศ.(พิเศษ)กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรมกล่าวว่า การที่จะไปขอซื้อยานั้นต้องตรวจดูให้ดีว่าคนที่ขายเป็นเภสัชกรจริงหรือไม่ หากไม่ใช่เภสัชกรจริงทางสภาเภสัชกรรมไม่สามารถเข้าไปยุ่งได้ ทางอย.ก็จะเป็นผู้จัดการผู้ขายและร้านที่มีการจำหน่ายยาที่มีการควบคุม แต่ถ้าเภสัชกรเป็นผู้จำหน่ายเองถึงจะสามารถลงโทษได้ ซึ่งสภาเภสัชกรรมก็จะประสานงานกับอย.อยู่แล้ว ถ้าหากทางอย.ไปตรวจสอบร้านขายยาร้านใดแล้วพบว่ามีการกระทำผิดแล้วเกี่ยวกับเภสัชกรก็จะแจ้งมาให้พิจารณาจรรยาบรรณของเภสัชกรที่ร้านนั้นด้วย 

“ทางเราก็ไม่เห็นด้วย ถึงแม้ว่ายาแก้ไอและยาทรามาดอล (Tramadol) ซึ่งกฎหมายเภสัชกรจะจ่ายได้ แต่เมื่อมันเป็นยาที่ก่อให้เกิดปัญหาในพื้นที่ โดยจรรยาบรรณแล้วมันก็ไม่เหมาะสม ควรขายยาตามความจำเป็นว่าบุคคลนี้จำเป็นต้องใช้ยาตัวนี้จริง ต้องมีประวัติและอาการที่ชัดเจน แต่ถ้าขายอย่างเดียว ใครมาซื้อก็ขาย แบบนี้ก็ไม่ถูกต้อง” ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติกล่าว

นายกสภาเภสัชกรรมกล่าวต่อไปว่า การกระทำผิดพวกนี้สภาเภสัชกรรมก็เข้มงวดในการพิจารณา หากเภสัชกรทำผิดจริงก็จะมีการลงโทษเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพเป็นการพิจารณาโทษที่ค่อนข้างรุนแรง และได้มีการดำเนินต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ถ้าหากไปตรวจสอบร้านขายยาแล้วพบว่าเภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ตามเวลาที่แจ้งไว้ก็จะถูกพิจารณาพักใช้ใบอนุญาต 1 ปี

อย.เตือนผู้ขายปฏิบัติตามกฎ นายวราวุธ เสริมสินสิริ เภสัชกรชำนาญการสำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)กระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่า ยาแก้ไอและยาทรามาดอลอยู่ในมาตรการในการจับตามองและควบคุม อย่างเช่น ยาแก้ไอตอนนี้ทางอย.ก็ได้ใช้มาตรการการควบคุมการจำหน่ายแก่ร้านขายยา โดยร้านขายยาร้านหนึ่งจะสามารถซื้อยาแก้ไอได้เพียง 300 ขวดต่อเดือนเท่านั้น ไม่สามารถซื้อเกินกว่านี้ได้ โดยข้อบังคับนี้เป็นมาตรการที่ทางอย.วางไว้สำหรับแก้ปัญหายาแก้ไอ ส่วนยาอีกหนึ่งตัวที่เป็นยาแก้ปวดหรือ ทรามาดอล อย.ได้ทำหนังสือไปยังร้านยาทุกแห่งแล้ว ให้ร้านยาจำหน่ายยาตัวนี้สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นทางการแพทย์เท่านั้น และยังแจ้งไปในจดหมายด้วยว่า ถ้ายังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ปัญหาได้ทางอย.ก็จะเริ่มมาตรการในการจำกัดจำนวนการจำหน่ายหรือจัดให้เป็นยาควบคุมพิเศษห้ามจำหน่ายในร้านขายยา ให้จำหน่ายได้เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ถ้าหากยังไม่สามารถควบคุมได้อีกอาจจำเป็นต้องเพิกถอนทะเบียนยาออกจากประเทศไทย กระบวนการเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่เราวางขั้นตอนในการปฏิบัติไว้ค่อนข้างชัดเจนโดยตอนนี้ทางอย.ก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนไปทีละขั้นและทำการประเมินสถานการณ์อยู่เป็นระยะ

เภสัชกรชำนาญการอย.กล่าวต่อว่า ยาแก้ไอและยาแก้ปวดทรามาดอลนั้นการลงโทษจะไม่หนัก เพราะอยู่ในกลุ่มของยาอันตรายจ่ายโดยเภสัชกร โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์และยาพวกนี้ไม่มีสถานภาพเป็นยาเสพติด แต่กลุ่มวัยรุ่นนำไปใช้โดยหวังผลอาการข้างเคียงจากการใช้ยา โทษจึงไม่หนักเหมือนยาเสพติดให้โทษ ซึ่งยาแก้ปวดทรามาดอลจะมีลักษณะทำให้เกิดอาการเคลิ้ม มึนงง เมื่อทานร่วมกับยาน้ำแก้ไอที่มีแอนตี้ฮิสตามีน(Antihistamine) ก็จะทำให้เกิดอาการเสริมฤทธิ์กันของยาทำให้อาการข้างเคียงเพิ่มมากขึ้น ส่วนยาอีกชนิดที่วัยรุ่นใช้แทนตัวยาทรามาดอล หรือใช้รับประทานเสริมเข้าไปก็คืออัลปราโซแลม ซึ่งยาตัวนี้จัดอยู่ในประเภทวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท การจำหน่ายโดยไม่ขออนุญาตเป็นความผิดอย่างแน่นอนและมีโทษทางกฎหมาย ต้องมีใบสั่งแพทย์ประกอบทุกครั้งในการจำหน่าย ซึ่งในอนาคตยาตัวนี้จะถูกยกระดับห้ามจำหน่ายในร้านขายยา

 

นายวราวุธกล่าวต่อไปอีกว่า กรณีที่มีการประกาศขายยาแก้ไอจำนวนมากในเฟซบุ๊กนั้น อาจจะเป็นเพราะรับยามาจากหลายๆร้านรวมกันก่อนที่จะนำมาจำหน่าย เพราะโดยหลักแล้วร้านขายยาจะถูกควบคุมปริมาณการซื้อไว้ 300 ขวดต่อเดือน ซึ่งการจำหน่ายในเฟซบุ๊กลักษณะนี้มีความผิดทางกฎหมายมีโทษทั้งจำและปรับ ส่วนการจัดจำหน่ายยาแก้ไอเป็นชุดนั้นถ้าหากผู้ขายๆ ในขณะที่เภสัชกรไม่ได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ตัวคนขายก็จะมีความผิดทางกฎหมาย

หมายเหตุ: ข่าวชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ “หอข่าว” จัดทำโดยนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง