"เทศกาลวรรณกรรมอิระวดี" เสรีภาพทางวรรณกรรมในพม่า

Logo Thai PBS
"เทศกาลวรรณกรรมอิระวดี" เสรีภาพทางวรรณกรรมในพม่า

เทศกาลวรรณกรรมอิระวดีในพม่า เปิดโอกาสเสรีภาพทางวรรณกรรมให้หนุ่มสาวรุ่นใหม่ และเป็นเวทีของบรรดานักเขียนรุ่นใหญ่ มาเปิดใจถึงประสบการณ์การต่อสู้ในช่วงที่เสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นสิ่งต้องห้ามในพม่ามากว่าครึ่งศตวรรษ

ข้อความเชิญชวนของ ซอว์ ไว กวีชาวพม่า "จงมาต่อคิวถ้าคุณมีความกล้า"  ที่ชักชวนในนักอ่านเพื่อนร่วมชาติหันมาซื้อหนังสือมือ2 ซึ่งจำหน่ายอย่างแพร่หลายใน Irrawaddy Literary Festival เทศกาลวรรณกรรมที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีของพม่า หลังยุคแห่งการเซนเซอร์สื่อสิ่งพิมพ์ยุติลง ชาวพม่าได้อ่านหนังสืออย่างเสรีมากขึ้นในเมืองย่างกุ้งหลังเคยมีการควบคุมเนื้อหาในสื่อสิ่งพิมพ์อย่างเข้มงวดจากรัฐบาลเผด็จการทหารที่ปกครองประเทศมากว่าครึ่งศตวรรษ 
 
ซอว์ ไว กวีชาวพม่า ซึ่งถูกจำคุกเพราะเนื้อหาจากบทกวีเมื่อปี 2008 ที่คำแรกของแต่ละบรรทัดมีความหมายว่า นายพลตานฉ่วยผู้คลั่งอำนาจ  ถือว่าวิพาก์อดีตผู้นำเผด็จการของรัฐบาลทหารพม่าโดยตรง ซึ่งไม่มีสำนักพิมพ์ไหนกล้าตีพิมพ์ผลงาน แต่ ซอว์ ไว นำข้อความดังกล่าวไปพิมพ์เป็นโปสเตอร์ติดหน้าร้านอาหารของภรรยา และนำไปโพสต์บนเฟซบุ๊ค จนถูกจับกุมและทรมานในห้องขัง และเมื่อได้รับอิสรภาพ เตรียมนำผลงานที่เคยโดนแบนมาตีพิมพ์อีกครั้ง 
 
ในอดีตนักเขียนพม่าคุ้นเคยกับรอยขีดฆ่าด้วยปากกาสีแดงที่กองเซนเซอร์ของพม่าใช้ในการตรวจสอบข้อความที่ไม่เหมาะสม ทั้งเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง และบางคำที่อ่อนไหวต่อทางการ เช่น ความยากจน การฆ่าตัวตาย หรือแม้แต่การจูบ เช่น นิยายเรื่อง อมาตยา ของ ทินทินวิน แต่งในปี 1989 แต่เพิ่งถูกตีพิมพ์เมื่อ 2 ปีก่อน หลังเคยถูกแบนเพราะเล่าถึงผู้หญิงพม่าที่อยู่ก่อนแต่งกับแฟนหนุ่ม ซึ่งทางการมองว่าเป็นการหมิ่นเกียรติสตรีพม่า แต่ทินทินวิน มองว่าเป็นการสะท้อนเสรีภาพในการเลือกคู่ครองของสตรีพม่าที่เพิ่มขึ้นในสังคมช่วงหลายปีมานี้
 
ในอดีตรัฐบาลใช้ช่องทางข่าวเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ แต่มีชาวพม่าหลายคนเสพสื่อจากนิยายที่สอดแทรกเนื้อหาทางการเมือง ซึ่งการนำนิยายล่อแหลมไปอ่านในกลุ่มเพื่อนก็เป็นความผิดทางอาญา เช่นที่ มา ธิดา อดีตแพทย์หญิงที่ถูกจำคุกเป็นเวลา 20 ปี จากการนำหนังสือต้องห้ามไปเผยแพร่ ทำให้เธอเสียชีวิต เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้รักษาตัวระหว่างป่วยไข้ หลังจากได้รับอิสรภาพและมาตีพิมพ์ผลงานในเมืองไทย วันนี้เธอกลายเป็นบรรณาธิการนิตยสารถึง 4 ฉบับ ที่สามารถตีพิมพ์ภาพการประท้วงครั้งใหญ่ในปี 1988 ในย่างกุ้งได้อย่างเสรี 
 
แม้สื่อสิ่งพิมพ์ดูเหมือนจะมีเสรีภาพมากขึ้น แต่ มา ธิดา กล่าวว่า พม่าใช้กฎหมายจดทะเบียนหนังสือพิมพ์ และประกอบกิจการสำนักพิมพ์ปี 1962 ซึ่งการตีพิมพ์ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐ ซึ่งเธอเห็นว่าเป็นวิธีการเซนเซอร์อีกรูปแบบหนึ่ง ที่ยังคงมีอยู่ในพม่า


ข่าวที่เกี่ยวข้อง