วงการหนังเอเชียตะวันออก ในเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน

Logo Thai PBS
วงการหนังเอเชียตะวันออก ในเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน

แม้การการเติบโตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เอเชียตะวันออกจะเป็นไปค่อนข้างดี แต่การที่หลายคนหันไปสร้างหนังที่เอาใจคนดูเป็นหลัก ก็ทำให้ขาดแคลนผลงานคุณภาพที่เคยสร้างชื่อเสียงในเทศกาลภาพยนต์ระดับโลกเหมือนในอดีต

The Grandmaster ภาพยนตร์ย้อนตำนานยิปมัน ยอดปรมาจารย์แห่งมวยหย่งชุน ที่รวบรวมยอดนักแสดงของเอเชียทั้ง เหลียงเฉาเหว่ย จางจื่ออี๋ และซองเฮเคียว คือผลงานเรื่องล่าสุดของ หว่องกาไว ผู้กำกับภาพยนตร์ฮ่องกง ที่ได้รับเลือกให้เป็นภาพยนตร์เปิดเทศกาล Berlin International Film Festival ครั้งที่ 63 โดยยอดผู้กำกับวัย 54 ปี ยังได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมการตัดสินในปีนี้

3 ทศวรรษที่ผ่านมา เทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลินได้ชื่อว่าเป็นเวทีแจ้งเกิดให้กับนักสร้างภาพยนตร์ จากเอเชียตะวันออกให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ทั้ง จางอี้โหมว ที่เปิดเส้นทางอาชีพผู้กำกับชาวจีนผู้ยิ่งใหญ่ด้วยการคว้าหมีทองคำจาก Red Sorghum ผลงานกำกับภาพยนต์เรื่องแรกเมื่อปี 1988 หรือ หลี่อัน ผู้กำกับชาวไต้หวัน ก็เป็นที่คุ้นเคยของแฟนหนังจากการคว้าหมีทองคำมาถึง 2 ครั้งในยุค 90 จาก The Wedding Banquet และ Sense and Sensibility ส่วนการ์ตูนของค่ายจิบบิก็เริ่มเป็นที่ยอมรับของแฟนแอนิเมชั่นทั่วโลกเมื่อ Spirited Away ของ ฮายาโอะ มิยาซากิ คว้าหมีทองคำได้เมื่อปี 2002

แต่ในเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลินครั้งนี้ กลับมีผลงานจากเอเชียตะวันออกเพียงเรื่องเดียวที่เข้าชิงในสายประกวดคือ Nobody's Daughter Haewon ความสัมพันธ์ต้องห้ามระหว่างศิษย์และอาจารย์ของผู้กำกับเกาหลีใต้ ฮงซังซู โดยในสาย Forum ที่เน้นการฉายหนังทดลองและสารคดี ซึ่งปีก่อนมีหนังเอเชียเข้าฉายถึงร้อยละ 40 แต่ปีนี้กลับลดจำนวนลงเหลือเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น

คริสตอฟ เทอร์เฮชเตอร์ ผู้คัดเลือกหนังในสาย Forum ยอมรับว่าตลาดหนังในเอเชียตะวันออกกำลังเติบโตในแนวทางเดียวกับตลาดภาพยนตร์ ในอินเดีย ซึ่งสามารถพึ่งพารายได้จากการฉายในประเทศโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการคว้า รางวัลจากเทศกาลในยุโรปเพื่อเพิ่มมูลค่าในตลาดต่างประเทศ เช่นความนิยมที่เกิดขึ้นในตลอดภาพยนตร์ของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะแดนโสมที่ปีนี้มีนักสร้างหนังที่แจ้งเกิดจากเวทีรางวัล ผันตัวไปสร้างหนังทำเงินในฮอลลีวูดมากมาย ทั้ง ปาร์คชานวุค กับหนังสยองขวัญ Stoker, คิมจีวูน ผู้กำกับหนังแอ็คชั่นของ อาร์โนลด์ ชวาร์สเนคเกอร์ ใน The Last Stand และ บุงจุนโฮ กับโปรเจ็คท์หนังไซไฟเรื่อง Snowpiercer

การเติบโตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในเมืองจีน ส่งผลให้นักสร้างหนังอินดี้ที่เคยพึ่งพาเงินทุนจากยุโรปหันมาสร้างหนังเอาใจ ตลาดที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมากขึ้น ขณะที่ปัญหาด้านการเซนเซอร์และการไร้ซึ่งโรงภาพยนตร์อาร์ตเฮาส์ในประเทศ กลายเป็นอุปสรรคของจีนในการสร้างแรงบันดาลใจแก่นักสร้างหนังรุ่นใหม่ นำไปสู่การขาดแคลนภาพยนตร์สำหรับเวทีรางวัลเหมือนในอดีต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง