“ขี้เล” ปุ๋ยอินทรีย์จากดินเลน ช่วยพืชผลโตไว ลดต้นทุน

สิ่งแวดล้อม
11 ก.พ. 56
10:54
1,709
Logo Thai PBS
“ขี้เล” ปุ๋ยอินทรีย์จากดินเลน ช่วยพืชผลโตไว  ลดต้นทุน

“ขี้เล" ภาษาถิ่นในภาคใต้ที่ใช้เรียก “ดินเลน” ที่เกิดจากการทับถมของตะกอนของอินทรีย์วัตถุ เช่นซากพืช ซากสัตว์ ซากต้นไม้ ใบไม้ ที่สะสมทับถมตามบริเวณชายฝั่งทะเลสาบน้ำจืดหรือน้ำกร่อยของทะเลสาบสงขลา

  เมื่ออินทรีย์วัตถุเหล่านั้นย่อยสลายสมบูรณ์ และโดนแดดเผา บางส่วนลอยขึ้นมาบนผิวน้ำและถูกคลื่นซัดเข้าชายฝั่งกองทับถมรวมกันเป็นลูกระนาด ชาวบ้านพากันเรียกว่าขี้แดด เมื่อขุด “ขี้แดด” มาผสมกับปุ๋ยคอกและน้ำหมักจะได้เป็นปุ๋ยสูตรพิเศษที่มีธาตุอาหารหลักที่จำเป็นต่อพืช คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ผสมอยู่

 
นี่ทำให้ชาวบ้านหมู่บ้านคลองกะอาน ตำบลนาปะขอ อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง ได้นำ “ขี้เล" มาผลิตเป็นปุ๋ย “ขี้เล ตราชาวเล”  ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะของชุมชนมีการนำดินผสมกับปุ๋ยคอกและน้ำหมัก ทำการหมักทิ้งไว้ จากนั้นจึงนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรเพื่อปรับปรุงบำรุงดินและใช้เพาะปลูกพืชกันในครัวเรือน ให้ผลเจริญงอกงาม ด้วยฝีมือชาวบ้านในหมู่บ้านคลองกระอาน จำนวน 35 คน ภายใต้ “กลุ่มปุ๋ยอินทรีย์คลองกระอาน” และสนับสนุนโดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อการพัฒนารูปแบบการผลิตให้เป็นสินค้าโอทอปต่อไป
            
นางเตือนใจ สิทธิบุรี ที่ปรึกษากลุ่มผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์คลองกระอานและผู้รับผิดชอบโครงการพื้นที่สร้างสรรค์ ด้วยสายใยสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชน ของแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า การทำปุ๋ยอินทรีย์ขี้เล มีกระบวนการทำที่ไม่ยากเริ่มต้นจากนำขี้เลคลุกเคล้ากับปุ๋ยคอกและน้ำหมักในอัตราส่วน 3 : 1 : 1 กองหมักทิ้งไว้ 1 เดือน จากนั้นกลับกองปุ๋ยทุกๆ 7 วัน หมั่นรดน้ำเมื่อกองปุ๋ยหมักแห้ง(น้ำหมัก) และใช้วัสดุคลุมกองปุ๋ยเพื่อรักษาความชื้น จนครบตามกำหนด 1 เดือน จึงนำปุ๋ยไปบรรจุลงในกระสอบและนำไปใช้งานได้
             
“ผลจากที่เกษตรกรในพื้นที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ขี้เล เพื่อปรับปรุงดินก่อนเพาะปลูก หรือใช้เพาะปลูกพืชโดยตรง พบว่า พืชผักขึ้นไว งอกงามดี ปลอดภัยจากสารเคมี ต้นทุนการผลิตลดลง ในขณะที่ปุ๋ยเคมีมีราคาสูง ทำให้มีต้นทุนการผลิตสูงและยังเป็นอันตรายทั้งต่อตัวเกษตรกรเอง ตกค้างในพืชผักที่เพาะปลูก และยังส่งผลเสียต่อดินและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งนี่เป็นผลพลอยได้ที่ธรรมชาติให้กับชุมชน และตราบใดที่ยังมีทะเสสาบอยู่ขี้ดินที่จะมาทำขี้เลก็จะไม่มีวันหมดไปจากชุมชนแน่นอน” นางเตือนใจ สิทธิบุรี บอก
 
                
นางเตือนใจ สิทธิบุรี ยังบอกต่ออีกว่า สำหรับการบรรจุเป็นกระสอบปัจจุบันจะบรรจุ กระสอบละ 10 กิโลกรัม จำหน่ายในราคา 50 บาท และอีกไม่นานทางกลุ่มมีแนวโน้มที่จะลดขนาดผลิตภัณฑ์ลงมา ให้เป็นกระสอบละ 2 กิโลกรัม เพื่อเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ซื้อให้หิ้วกลับได้ง่าย สำหรับราคาจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนเมษายนนี้ 
 
เกษตรกรที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียด และสั่งซื้อปุ๋ยอินทรีย์(ขี้เล) ตราชาวเล ได้ที่กลุ่มปุ๋ยอินทรีย์คลองกระอาน หมู่ 14 ตำบลนาปะขอ อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง โดยติดต่อผ่าน นายอะหมัด ตะเอ ประธานกลุ่มได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 086-2873234 หรือติดต่อที่เกษตรอำเภอบางแก้ว สำนักงานเกษตรอำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง เบอร์โทร. 081-9590478 ได้ทุกวัน
              
จากที่ได้นำส่งตัวอย่างปุ๋ยอินทรีย์ขี้เลเพื่อตรวจวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารในดิน ที่กลุ่มวิเคราะห์ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12 กรมพัฒนาที่ดิน ผลการวิเคราะห์ พบว่า ปุ๋ยอินทรีย์ขี้เล ประกอบไปด้วยแร่ธาตุอาหารหลัก ตามที่พืชต้องการ คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ทำให้ปุ๋ยอินทรีย์ขี้เลเป็นแหล่งของธาตุอาหารพืช มีคุณสมบัติช่วยให้จุลินทรีย์ในดินทำงานได้ดี ทั้งยังปรับปรุงโครงสร้างของดิน ช่วยปรับค่าความเป็นกรดของดิน ช่วยลดความเค็มของดินและความเป็นพิษของสารบางชนิด และยังช่วยลดการชะล้างพังทลายของดิน
              
สูตรในการใช้ปุ๋ยเพื่อเพาะปลูกพืชชนิดต่างๆ สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวใช้ปุ๋ยในปริมาณ 2-4 ตัน/ไร่ โดยหว่านปุ๋ยให้ทั่วพื้นที่และไถกลบก่อนปลูกพืช พื้นที่ปลูกพืชไร่ใช้ปุ๋ยในปริมาณ 2-4 ตัน ต่อ/ไร่ โดยใส่ปุ๋ยเป็นแถวตามแนวปลูกพืชและคลุกเคล้ากับดิน สำหรับแปลงปลูกพืชผัก – แปลงเพราะกล้า ใช้ปุ๋ยในปริมาณ 2-4 กก. /ตรม. โดยใส่ปุ๋ยลงคลุกเคล้ากับดินในแปลงเพาะกล้า ขณะเตรียมดินปลูก หากเป็นแปลงปลูกพืชขนาดใหญ่ จะใช้ปุ๋ยในปริมาณ 2-6 ตัน/ไร่ ให้หว่านปุ๋ยทั่วแปลงไถกลบขณะเตรียมดิน 
 
สำหรับการเพาะปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น ใช้ปุ๋ยในปริมาณ 15-20 กก./หลุม ในขั้นตอนแรกของการเตรียมหลุมปลูกให้คลุกเคล้าปุ๋ยกับดินเข้าด้วยกัน จากนั้นใส่ลงด้านล่างหลุม หากเป็นช่วงที่พืชเจริญแล้วให้ทำการขุดรองรอบต้นตามแนวทรงพุ่ม จากนั้นใส่ปุ๋ยลงในร่องและใช้ดินกลบ การปลูกไม้ดอกไม้ประดับ หากเป็นแปลงไม้ดอก ใช้ปุ๋ยในปริมาณ 1-3 ตัน/ไร่  โดยหว่านปุ๋ยให้ทั่วพื้นที่และใช้ดินกลบก่อนการปลูกพืช หากเป็นแปลงไม้ดอกยืนต้น ใช้ปุ๋ยในปริมาณ 5-10 กก./หลุม โดยคลุกเคล้าปุ๋ยกับดินให้เข้ากัน จากนั้นใส่ลงในร่องก้นหลุมปลูก สำหรับการปลูกไม้ประดับ ใช้ปุ๋ยในปริมาณ 1-2 กก./ตัน ให้ใส่ปุ๋ยรอบต้นตามแนวทรงพุ่ม
            
อุปสรรคในการผลิตปุ๋ย  หากเป็นฤดูฝนจะมีพายุ น้ำขึ้น จะผลิตปุ่ยไม่ได้ แต่หลังจากฤดูฝนขี้เลจะถูกพัดมากองทับถมกันอยู่ ชาวบ้านจะนำมาใช้ประโยชน์เพื่อผลิตปุ๋ยไว้ใช้ในหน้าแล้งต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง