แฉไทยถ่วงยกเลิกใช้แร่ใยหิน ชี้แร่ใยหินตัวการก่อ 3 โรค ใยหิน-มะเร็งปอด-มะเร็งเยื่อหุ้มปอด

สังคม
12 ก.พ. 56
02:19
469
Logo Thai PBS
แฉไทยถ่วงยกเลิกใช้แร่ใยหิน ชี้แร่ใยหินตัวการก่อ 3 โรค ใยหิน-มะเร็งปอด-มะเร็งเยื่อหุ้มปอด

หมอวิชัย ออกโรงระบุ ทั่วโลกพิสูจน์ได้ตั้งแต่ 70 ปีที่แล้ว จุฬาฯ แปลหนังสือ “อินเทอร์นิต และคีดแอสเบสตอสที่ยิ่งใหญ่” ให้ความรู้อันตรายของแร่ใยหินแก่ประชาชน

  แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไลคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ “อินเทอร์นิตและคดีแอสเบสตอสที่ยิ่งใหญ่” โดยนพ.วิชัย โชควิวัฒน บรรณาธิการแปลหนังสืออินเทอร์นิตฯ  กล่าวว่า หนังสือดังกล่าวเป็นการรวบรวมเอกสารทางวิชาการเกี่ยวกับคดีความของบริษัทอิเทอร์นิต ผู้ผลิตและกลุ่มอุตสาหกรรมข้ามชาติแอสเบสตอส (แร่ใยหิน) หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับซีเมนต์  ซึ่งคดีแอสเบสตอสมีคดีความหลายประเทศ โดยเฉพาะในเมืองตูริน ประเทศอิตาลี สร้างผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจำนวนมาก  

 
ล่าสุดศาลชั้นต้นของอิตาลี ได้พิพากษาเมื่อวันที่ 13 ก.พ. ปี 55 ลงโทษผู้บริหารระดับสูงของบริษัทอินเทอร์นิต ฐานจงใจละเลยทำให้เกิดความเสียหาย มีโทษจำคุก 16 ปี จ่ายชดเชยให้ผู้เสียหาย 6,392 คน เป็นเงินมากกว่า 5 ล้านยูโร อย่างไรก็ตาม คดีนี้ยังไม่สิ้นสุดมีการอุทธรณ์อยู่
                
“งานวิจัยทางการแพทย์พิสูจน์ว่าแร่ใยหินเป็นอันตรายต่อมนุษย์ได้ตั้งแต่ปี 2483 ว่าทำให้เกิดโรคร้ายแรง 3 โรค คือ โรคใยหิน โรคมะเร็งปอด และโรคมะเร็งยื่นหุ้มปอด นำไปสู่การยกเลิกการใช้ในประเทศต่างๆ ในขณะที่ประเทศไทย ยังไม่เลิกเถียงกันว่า แร่ใยหินทำให้เกิดอันตรายจริงหรือไม่และให้ศึกษาต่อ ซึ่งวิธีดังกล่าวเป็นเพียงกระบวนการยื้อเวลาไม่ให้เกิดการยกเลิกการใช้เท่านั้น หากสังเกตจะพบว่าไทยมีผู้ป่วยมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอดจำนวนมาก ทั้งที่ไม่มีประวัติการสูบบุหรี่ หรือกินเหล้า ทั้งนี้ การรณรงค์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีแนวโน้มไปในทางเดียวกันคือ เพื่อปกป้องสุขภาพ และชีวิตของคนงาน ครอบครัว ชุมชน จะได้รับ ไม่ใช่แค่การเรียกร้องเพื่อขอค่าเสียหายเท่านั้น” นพ.วิชัย กล่าว
             
 ภก.สรชัย จำเนียรดำรงการ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า จากการแปลหนังสือดังกล่าวพบว่า มีการรายงานสถานการณ์ของผลกระทบจากแอสเบสตอสในประเทศต่างๆ โดยมีงานวิจัยจำนวนมากนำไปสู่การยอมรับว่า แร่ใยหินเป็นอันตรายต่อสุขภาพในวงการแพทย์เมื่อปี 2507 และมีการยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกชนิดในทวีปยุโรบ ตั้งแต่ปี 2531 อาทิ  เดนมาร์ก อิตาลี เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยี่ยม เป็นต้น โดยยกกรณีตัวอย่าง เช่น ในปี 2550 บริษัทในประเทศญี่ปุ่น ต้องจ่ายเงินชดเชยให้คนงาน  454 คน ประเทศเดนมาร์ก มีคนงานเกษียณก่อนอายุ 75 คน ในจำนวนนี้  10 คนเสียชีวิตหลังจากออกจากงานไม่นาน ซึ่งในหลายประเทศ รายงานผลกระทบไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มลูกจ้างและครอบครัวของคนงาน รวมทั้งชุมชน  หากหน่วยงานด้านการแพทย์มีความเข้มแข็งในการรายงานข้อมูลจะทำให้เกิดความตระหนักในการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน 
                
นายจิรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง สำนักผู้ตรวจราชการอัยการ กล่าวว่า คดีตัวอย่างในหนังสือสามารถนำมาเป็นต้นแบบในการดำเนินคดีในประเทศไทย โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม พบว่ามีหลายกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น กรณีห้วยคลิตี้  เพราะคดีสิ่งแวดล้อมในไทยส่วนใหญ่จบลงเพียงคดีทางแพ่ง คือจ่ายค่าเสียหายเท่านั้น และหากเป็นความเสียหายจากเอกชน มักมีวิธีหลีกเลี่ยงเช่น ให้ผู้เสียหายไปบังคับคดีเอาเอง หรือ ทำให้บริษัทอยู่ในสถานะล้มละลาย ทำให้คดีจบไปโดยปริยาย โดยผู้เสียหายไม่ได้รับการชดเชย 
 
อย่างไรก็ตาม การหาข้อมูลข้อเท็จจริงหลักฐานที่จะนำไปสู่การเอาผิด ถือเป็นกระบวนการที่ยาก แต่ถ้าสถาบันที่มีหน้าที่ดูแลประชาชนไม่ทำหน้าที่ ไม่ควบคุมปล่อยปละละเลย ก็จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจคิดว่าสามารถละเมิดกฎหมายได้ ดังนั้นการกำกับดูแลถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสนใจ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง