เชื่อ "อี-บุ๊ค"ไม่ทำกระดาษตายแต่ต้องปรับตัว ลั่นสร้าง"วัฒนธรรมการอ่าน" รับมือประชาคมอาเซียน

สังคม
12 ก.พ. 56
11:14
123
Logo Thai PBS
เชื่อ "อี-บุ๊ค"ไม่ทำกระดาษตายแต่ต้องปรับตัว ลั่นสร้าง"วัฒนธรรมการอ่าน" รับมือประชาคมอาเซียน

สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ (PUBAT) ฟันธง อุตฯสำนักพิมพ์โตต่อเนื่องไม่น้อยกว่าร้อยละ 7 ยอดรวมแตะ 24,200 ล้านบาท หวั่นสนพ.เล็กมีปัญหา นวนิยายยังครองตลาดหนังสือ

 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ( PUBAT) จัดงานเสวนา “ธุรกิจหนังสือไทย อยู่อย่างไรให้รุ่งในยุคดิจิตอล  และเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน” เพื่อเปิดเผยถึงผลวิเคราะห์อุตสาหกรรมสำนักพิมพ์ ทิศทางการเติบโต และบทบาทของสมาคมที่ยืนอยู่บนพันธกิจของการสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

 
นายวรพันธ์ โลกิตสถาพร นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย  (PUBAT) เปิดเผยว่าในปีนี้สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะผลักดันให้อุตสาหกรรมหนังสือกลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่องประมาณ 7 % คิดเป็นมูลค่าประมาณ 24,200 ล้านบาท โดยหากมีผู้ผลิตที่สามารถออกหนังสือโดนใจวัยรุ่นได้ ก็อาจทำให้ธุรกิจหนังสือโตมากกว่านี้ เพราะคนกลุ่มนี้มีขนาดใหญ่ ตัดสินใจซื้อง่าย และพร้อมเทเวลาไปให้ในสิ่งที่ตัวเองสนใจ แม้ว่าอุตสาหกรรมหนังสือจะเจอปัจจัยลบรุมล้อม และลดกำลังซื้อในภาคครัวเรือนลงก็ตาม
 
จากการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของหลายสำนักเห็นว่าความเติบโตทางเศรษฐกิจจะเติบโตได้ต่อเนื่องจากปี 2555 ในอัตราร้อยละ 4.7 - 5.7 โดยอาศัยแรงกระตุ้นจากการลงทุนในภาครัฐในส่วนต่างๆ  เช่น ระบบขนส่งมวลชน ระบบการผันน้ำ ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท  และ การลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 23% แต่มาตรการต่างๆที่มีผลกระทบชัดเจน และมีนัยสำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคคือมาตรการรถคันแรก ซึ่งเป็นการดูดสภาพคล่องทางการเงินทั้งจากทางผู้บริโภคเองและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงสวนทางกับนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลทำขึ้น  และจะทำให้เป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับแนวบันเทิง ซึ่งไม่ใช่ความจำเป็นในชีวิตประจำวันอย่างเลี่ยงไม่ได้
 
ธุรกิจสิ่งพิมพ์ในปี 2556  เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและบันเทิง แบ่งแยกได้เป็น 2 ส่วนคือส่วนที่เกี่ยวกับแบบเรียน คู่มือ วิชาการยังคงอยู่ในความต้องการของตลาด แต่มีอุปสรรคคือไม่สามารถเพิ่มราคาต่อปกได้เนื่องจากงบประมาณทางด้านนี้ยังมีจำกัด และจำนวนการสั่งซื้อหรือการใช้ยังไม่ขยายตัว
 
ด้านหนังสือเล่ม ซึ่งมีภาระต้นทุนสูงขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำคือต้นทุนการผลิต การเพิ่มขึ้นของราคากระดาษในปีที่ผ่านมายังทยอยขึ้นเป็นช่วงๆ ค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นมาเป็น  300 บาทยังกระทบกับส่วนงานที่ยังมีบุคลากรที่ใช้แรงงานขั้นต่ำอยู่ถึงแม้จะไม่มาก เช่นคลังสินค้า ธุรการ การจัดการต่างๆ สำนักพิมพ์ต้องมีภาระค่าจ้างขึ้น 
 
ส่วนที่กระทบหนักที่สุดคือปลายน้ำตั้งแต่ส่วนกระบวนการขนส่งไปยังร้านหนังสือ การจัดจำหน่าย   และร้านหนังสือ ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปแบบการขอขึ้นค่า Logistics ของร้านหนังสือค่ายใหญ่ 2 ค่าย ค่าใช้จ่ายทางด้านขนส่ง การใช้บุคคลากรจำนวนมากในส่วนของร้านหนังสือ ยังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เห็นแนวโน้มของการขึ้นราคาของหนังสือไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเพื่อชดเชยต้นทุนแฝงต่างๆ และความอยู่รอดของทั้งกระบวนการ (Supply Chain)
 
สิ่งเหล่านี้ทำให้การเลือกซื้อสินค้ามีความระมัดระวังมากขึ้น เช่นการเลือกซื้อหนังสือจากค่ายหนังสือที่โดดเด่นตรงใจเท่านั้น การซื้อต่อครั้งที่ลดลง การเลือกซื้อที่ใช้เวลายาวนานมากขึ้น ทำให้ทั้ง สำนักพิมพ์ และร้านหนังสือต้องปรับตัว ทำสินค้าให้ตรงใจผู้อ่านมากยิ่งขึ้น และยังไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้มากนัก ต้องการอาศัยการขยายฐานจำนวนคนอ่านให้มากขึ้นแทน” นายวรพันธ์กล่าว
 
นายวรพันธ์ยังเผยอีกว่าสิ่งที่สะท้อนออกมาในภาพรวมในปี 2555 และต่อมายัง 2556 คือ ภาพการล้มหายตายจากของสำนักพิมพ์ขนาดเล็กจำนวนมากกว่า 60 แห่ง ทำให้เห็นการแข่งขันอย่างรุนแรงในธุรกิจนี้ ในขณะเดียวกันก็ยังมีผู้เข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าธุรกิจนี้ยังสามารถเติบโตได้โดยอาศัยช่องว่างของตลาดที่ยังมีอยู่มาก
 
“การทำซ้ำ การเลียนแบบ หรือการทำตามๆ กันในรูปแบบของหนังสือแนวเดียวกัน หรือรูปลักษณะเดียวกัน เช่น นวนิยาย หรือ หนังสือเรื่องความเชื่อ หากไม่มีความแตกต่าง หรือ มีเอกลักษณ์ มักจะไม่สามารถอยู่รอดได้ ในขณะเดียวกันผู้นำในส่วนนี้ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง สำนักพิมพ์ขนาดเล็ก สามารถขยับไปเป็น สำนักพิมพ์ขนาดกลางได้อย่างมั่นคงหลายแห่ง สำนักพิมพ์ขนาดกลางสามารถขยับไปเป็นสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่  สิ่งเหล่านี้หากมองย้อนไปจะพบว่าเป็นสำนักพิมพ์ที่มีการปรับตัว 
 
ส่วนของการทำหนังสือให้ตรงแนวกับทางการตลาดมากยิ่งขึ้น มีความแม่นยำในการทำหนังสือมากยิ่งขึ้น มีการใช้การตลาด การสร้าง Branding มากยิ่งขึ้น สะท้อนออกมาจากจำนวนหนังสือที่ผลิตออกมาเพิ่มมากขึ้น และเป็นแนวที่ตลาดต้องการไม่ใช่แนวที่สำนักพิมพ์ถนัด รวมทั้งเป็นการสร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัวเท่านั้น ซึ่งสามารถแบ่งจำแนกหมวดสินค้าที่ยังเป็นที่นิยมในตลาด ก็มี นวนิยายวัยใส นวนิยายผู้ใหญ่ แนวแฟนตาซี (มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากมีผู้ผลิตรายใหญ่ๆ เข้ามาผลิตจำนวนหนังสือมากขึ้นในตลาดนี้) Lite Novel หนังสือหมวดอื่นๆ เริ่มขยับตัวเล็กน้อย  แนวกำลังใจ Inspiration  How To โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับหุ้น การลงทุนต่างๆ หนังสือการ์ตูนความรู้ 
 
แม้ตลาดจะดูไม่ขยับมากนัก แต่คาดว่าปีนี้จะมีผู้ผลิตรายใหม่ๆ เข้ามากระตุ้นตลาดให้มีการขยายตัวได้อีกครั้ง เพราะเป็นตลาดที่ผู้อ่านยังสามารถสร้างฐานการอ่านได้อีกจำนวนมาก
 
อย่างไรก็ตามการที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองหนังสือโลก การจัดการประชุม IPA Congress 2014 ที่ประเทศไทย ล้วนเป็นตัวกระตุ้นทางหนึ่งให้ตลาดมีการตื่นตัวทั้งทางด้านผู้ผลิต คือ สำนักพิมพ์  ผู้จัดจำหน่าย ร้านหนังสือ การจัดสรรงบประมาณของภาครัฐในการสั่งซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด การลดหย่อนภาษีสำหรับการบริจาค  หากสามารถทำเป็นรูปธรรมร่วมกับการสนับสนุนกิจกรรมของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยในการผลักดันวัฒนธรรมการอ่าน ตลอดจนการนำหนังสือไทยออกสู่ตลาดโลกเพื่อขายลิขสิทธิ์ การมีผู้ผลิตรายใหม่ๆ สร้างสรรค์การผลิตหนังสือแนวใหม่ๆ หรือมีรูปลักษณ์ที่น่าสนใจ 
 
มีการทำตลาดในระดับผู้อ่านเบื้องต้น (Entry Level อายุ 10 - 12 ปี ที่สามารถอ่านหนังสือเล่มได้แล้ว) มากขึ้น การเพิ่มจำนวนสาขาของร้านหนังสือ Chain Store และร้านค้าระดับท้องถิ่น การจัดงานหนังสือสัญจร   การจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอ่านของสำนักพิมพ์ จะสามารถขยายฐานผู้อ่านให้เพิ่มมากขึ้นได้อีกมากในอนาคต”
 
ส่วนของ E-Book นั้น นายวรพันธ์มองว่าตลาด E-Book จะเป็นเพียงตัวเสริมทางด้าน Media การอ่านเท่านั้น และยังไม่มีทีท่าว่าจะสามารถทดแทนตัวหนังสือเล่มได้อย่างมีนัยสำคัญภายใน 5 ปีข้างหน้า
 
“ไทยยังมีการติดตามและทดลองทั้งในส่วนของผู้ผลิต คือ สำนักพิมพ์ ผู้จำหน่าย เช่น ร้านหนังสือ หรือ Operator ต่างๆ เช่น AIS ยังคงอยู่ในช่วงทดลองตลาดและเทคโนโลยี ยังมีหนังสือจำนวนน้อยที่ทำการขายบน E-Book อย่างจริงจัง น้อยกว่า 0.01% หนังสือดิจิตอล อาจไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้ธุรกิจหนังสือล้มหาย แต่สื่อดิจิตอลอื่นๆ ต่างหากที่ทำให้คนสนใจหนังสือน้อยลง คำตอบของการอยู่รอดในอนาคตที่คนทำหนังสือต้องคิดคือ นิยามตัวเองใหม่ที่ต้องเป็นมากกว่าหนังสือ (Beyond Book)”
 
ส่วนการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 นั้นถือเป็นโอกาสสำคัญที่ “ผู้ผลิตหนังสือ” ในฐานะสื่อการเรียนรู้จะหาทางสร้างสรรค์งานเพื่อตอบสนองความอยากรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชน
               
“สิ่งพิมพ์ที่มีปริมาณมากที่สุดคือ สิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเภทความรู้ทั่วไป ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ พอสังเขป และมักนำเสนอแยกออกเป็นรายประเทศ บางครั้งทำให้เกิดปัญหาต่อการทำความเข้าใจภูมิภาคนี้แบบองค์รวม ความเข้าใจจึงควรจะเป็นการเข้าใจถึงความคิด ความเชื่อ ค่านิยมทั้งหลายที่อยู่ภายในของ “คน” ในแต่ละประเทศ คำถามที่น่าสนใจคือ ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้จะมีโอกาสนำมาเผยแพร่ได้อย่างไร
               
อีกด้านหนึ่ง รูปแบบของการนำเสนองานในเชิงวิชาการอาจไม่เพียงพอ แต่งานด้านวรรณกรรม หรือนวนิยายของประเทศต่างๆ ควรได้รับการแปลและเผยแพร่ เนื่องจากวรรณกรรมเป็นสิ่งสะท้อนถึงวัฒนธรรม ค่านิยม ความเชื่อ และสภาพของสังคม ของแต่ละประเทศได้อย่างดี
               
รัฐบาลอาจต้องสนับสนุนด้านศูนย์การแปล เพื่อเป็นตัวเร่งให้เกิดการแลกเปลี่ยนงาน และยังเป็นการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในประชาคมอาเซียนด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ยกระดับการอ่าน ความรู้ ความเข้าใจ ระหว่าง “คนอาเซียน” ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น” นายวรพันธ์กล่าวสรุป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง