วันนี้ ศปก.กปต.มีมติไม่ประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ชายแดนใต้

การเมือง
15 ก.พ. 56
14:15
26
Logo Thai PBS
วันนี้ ศปก.กปต.มีมติไม่ประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ชายแดนใต้

เจ้าหน้าที่ตรวจค้นพื้นที่กดดันกลุ่มผู้ร่วมก่อเหตุโจมตีฐานปฏิบัติการทหารหน่วยนาวิกโยธิน อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อ 3 วันก่อน ขณะเดียวกัน วันนี่ (15 ก.พ.) ศปก.กปต. มีมติไม่ประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

หลังใช้เวลาประชุมเกือบ 4 ชั่วโมง เพื่อรับฟังความเห็นทั้งจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน สภาความมั่นคงแห่งชาติ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย และยุทธศาสตร์ การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) ลงมติเอกฉันท์ไม่ประกาศเคอร์ฟิว ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ระบุว่า มติที่ประชุมได้ร่วมกันประเมินจากทุกมิติแล้ว ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันให้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควบคุมดูแลสถานการณ์ในพื้นที่ พร้อมทั้งให้ประเมินสถานการณ์เป็นรายวัน เพื่อเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ผู้นำชุมชนในจังหวัดปัตตานี มองว่า มติไม่ประกาศเคอร์ฟิว จะส่งผลดีต่อชาวมุสลิม ที่ต้องประกอบอาชีพตั้งแต่ตั้งแต่ 18.00 นาฬิกา ถึง 21.00 นาฬิกา รวมทั้งประชาชนที่ประกอบอาชีพของกลางคืน ขณะที่ นายสมบัติ โยธาทิพย์ นักวิชาการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้บางส่วน ระบุว่า การที่ ศปก.กปต. มีมติไม่ประกาศเคอร์ฟิว เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญต่อเสียงเรียกร้องจากประชาชนที่คัดค้านการประกาศเคอร์ฟิว

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ขยายผลเพื่อติดตามกลุ่มผู้ก่อเหตุ โจมตีฐานทหารกองร้อยปืนเล็กที่ 2 หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อ 2 วันก่อน

ปฏิบัติการวิสามัญฆาตกรรม 16 แนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบ ของหน่วยนาวิกโยธิน กองทัพเรือ หนึ่งในผู้เสียชีวิตที่มีการกล่าวถึง คือ นายมะรอโซ จันทราวดี ซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่า เป็นแกนนำคนสำคัญอันดับหนึ่งที่คุมพื้นที่ เขตอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ที่มีหมายจับ ป.วิอาญา 11 หมาย และหมาย พ.ร.ก. อีก 3 หมายคดี ล่าสุด นายมะรอโซ ถูกออกหมายจับคดีสังหารนายชลธี เจริญชล ครูโรงเรียนบ้านตันหยง ตำบลบาเระใต้ อำเภอบาเจาะ

เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า เส้นทางชีวิตในจำนวนแนวร่วมที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม ส่วนใหญ่เคยเข้าไปเกี่ยวกับเหตุการณ์สลายการชุมชุมที่สถานีตำรวจภูธรตากใบ ที่มีผู้เสียชีวิต 85 คน จากนั้นได้หันชีวิตเข้าสู่ขบวนการก่อความไม่สงบ แนวร่วมหลายคนที่ถูกจับกุม อ้างว่า ความไม่ยุติธรรม เป็นปัจจัยหนึ่งทำให้พวกเขาก้าวเข้าสู่ขบวนการก่อความไม่สงบ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง