บทบาท "กองทัพอากาศ" กับอาเซียน

การเมือง
16 ก.พ. 56
06:55
1,243
Logo Thai PBS
บทบาท "กองทัพอากาศ" กับอาเซียน

กองทัพอากาศพร้อมเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงทุกภาคส่วนให้ตระหนักถึงความสำคัญของมิติด้านการเมืองและความมั่นคง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบและแสวงหาความร่วมมือในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์กองทัพอากาศ สู่การเป็นกองทัพอากาศชั้นนำในภูมิภาคภายในปี 2562

การผลักดันกองทัพอากาศไปสู่การเป็นกองทัพอากาศชั้นนำในภูมิภาค หรือระดับ 1 ใน 3 ของอาเซียน ภายในปี 2562 เป็นวิสัยทัศน์กองทัพอากาศที่ขณะนี้อยู่ในขั้นที่ 2 ของการพัฒนา สอดคล้องกับการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 โดยนอกจากพัฒนากำลังพลแล้ว ยังเน้นแสวงหาความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีกับกองทัพอากาศอาเซียน

กองทัพอากาศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศในขณะนี้ สิงคโปร์ได้ชื่อว่ามีขีดความสามารถสูงและให้ความสำคัญกับงบประมาณทางการทหาร เช่นเดียวกับมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่มีเครื่องบินขับไล่แบบต่างๆ ประจำการ เพื่อถ่วงดุลย์อำนาจกำลังรบ ขณะที่ประเทศอื่นๆ มีทั้งการพัฒนาและข้อจำกัดที่ต่างกันไป แต่ที่น่าจับตามองคือกองทัพอากาศพม่า ที่เริ่มเปิดประเทศมากขึ้นกลับพบว่าให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังรบทางอากาศมากเช่นกัน

นอกจากกองทัพอากาศจะเน้นเพิ่มความร่วมมือกับกองทัพอากาศอาเซียนแล้ว ยังริเริ่มบทบาทการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรสื่อฯ ภาคเอกชน และหน่วยงานด้านความมั่นคง โดยการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของเสาหลักด้านการเมืองและความมั่นคง ที่จะเป็นกลไกสนับสนุนเสาหลักด้านเศรษฐกิจ และสังคม วัฒนธรรม เพื่อจะเสริมสร้างประชาคมอาเซียนให้แข็งแกร่งได้หรือไม่

การสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เป็นมิติใหม่ของกองทัพอากาศ ที่ไม่เพียงเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญกับมิติด้านการเมืองและความมั่นคง ซึ่งเป็น 1 ใน 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียน

กองทัพอากาศยังประเมินสถานการณ์หลังการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ภายใต้ความแตกต่างของทั้ง 10 ประเทศ มีโอกาสกลายเป็นคู่ขัดแย้งได้ ไม่ว่าจะมาจากปัญหาเขตแดน และภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ ที่จะเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนที่ไร้พรมแดนในอนาคต ทั้งปัญหายาเสพติด การค้ามนุษย์ ก่อการร้าย ภัยธรรมชาติ รวมไปถึงผลกระทบจากปัญหานอกภูมิภาค เช่น ปัญหาขัดแย้งในทะเลจีนใต้ และการแย่งชิงผลประโยชน์ จึงต้องแสวงหาแนวทางสร้างความไว้วางใจกับประเทศสมาชิกในทุกมิติ โดยเริ่มต้นจากการตระหนักรู้ของทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อพร้อมรับมือผลกระทบและเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความมั่นคงปลอดภัย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง