ลายซิ่น - ปิ่นปักผมเมืองแม่แจ่ม

Logo Thai PBS
ลายซิ่น - ปิ่นปักผมเมืองแม่แจ่ม

เครื่องแต่งกายเป็นอีกสิ่งที่แสดงอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เช่นที่แม่แจ่ม มีปิ่น และผ้าซิ่นตีนจกเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายหญิง ที่คนในชุมชนพยายามรักษาเอกลักษณ์นี้ไว้ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ติดตามในรายงานบ้านเราอุษาคเนย์

จะทำปิ่นไปจนกว่าวันที่ตาจะมองไม่เห็น เป็นความตั้งใจของกอนแก้ว อินต๊ะก๋อน ช่างทำปิ่นโบราณบ้านเดียวที่เหลืออยู่ในแม่แจ่ม แม้วัยล่วงเข้า 86 ปี แต่ฝีมือยังคงเที่ยง ขณะตอกลาย ขึ้นรูปปิ่นปักผมทรงยอดฉัตร ไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง กว่าจะได้ปิ่นสักชิ้น มีเพียงลูกหลานไม่กี่คนที่มีใจรัก ฝึกฝนวิชานี้ติดตัว หวังรักษางานทองเหลืองดั้งเดิม ที่ประยุกต์เป็นเครื่องประดับผมหญิงสาวเมืองแม่แจ่ม ไว้คู่กับการนุ่งซิ่นตีนจกพื้นเมือง

บัวจันทร์ อินต๊ะก๋อน ลูกช่างทำปิ่นโบราณ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เราทำปิ่นกันอยู่เพราะอยากรักษาของที่มันคู่กับผู้หญิงแม่แจ่ม ที่เขาจะนิยมนุ่งซิ่น ปักปิ่นกัน ลองไปดูอายุ 50 ปีขึ้นไป ปักกันแทบทั้งนั้น

กอนแก้ว อินต๊ะก๋อน ช่างทำปิ่นโบราณ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า งานมันใช้เวลานาน เขามาหัดๆ กันก็ว่าไม่ทันกิน แต่ว่าต่างจากการทำเครื่อง คุณค่ามันต่างกัน

ในเวลาที่มีงานบุญใหญ่หรือประเพณีสำคัญ เอกลักษณ์หนึ่งที่แสดงถึงวิถีชีวิตของคนเมืองแจ๋มหรือชาวแม่แจ่ม คือการแต่งกายของผู้หญิง เช่นมัดมวยผม นุ่งซิ่นตีนจก ที่คงรูปแบบวิธีการทอ และลวดลายของผ้าพื้นเมือง อย่างเช่นผืนนี้มีครบทั้ง 16 ลาย การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ยังช่วยรักษาคุณค่าของผ้าทอแม่แจ่มเอาไว้

วิถีงานทอที่สืบทอดอยู่แทบทุกหมู่บ้านในตำบลท่าผา มีผลให้งานฟื้นฟูลวดลาย สีสัน ตามแม่ลายโบราณ 16 ลายคืนกลับมาได้ไม่ยาก ช่างทอส่วนใหญ่จดจำลวดลาย และทอได้ครบทั้งหมด เช่น ลายหงส์ปล่อย เชียงแสนหงษ์ดำ และลายกุดขอเบ็ด เพื่อต่ออายุผ้าทอฝีมือชาวบ้านที่เกือบสูญหาย หลังปรับรูปแบบตามตลาดต้องการ

ลักษณะจากการคว่ำลายทอ หรือ จกจากด้านบน ให้ผ้าทอปราณีตไม่เหมือนใคร อวดลายผ้าได้ทั้งด้านใน และด้านนอก บ่งบอกภูมิปัญญาสร้างสรรค์เครื่องนุ่งห่มพื้นเมือง "ไทยวน" และยังเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ที่สืบทอดกันมานับร้อยปี การขึ้นทะเบียนในชื่อ "ผ้าทอตีนจกแม่แจ่ม" ไม่เพียงเพิ่มมูลค่าให้ผืนผ้า แต่ยังเป็นความภูมิใจร่วมกันของคนในท้องถิ่น

จารุณี อินเฉิดฉาย ผอ.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ผ้าซิ่นตีนจกมีหลากหลาย แต่ละพื้นที่ก็มีรูปแบบวิธีการทอลวดลายที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งการนำความรู้เรื่องผ้าไปเผยแพร่ จะสร้างความเข้าใจเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นนั้นๆ ได้

ในอดีตช่างทอเมืองแม่แจ่ม มีหน้าที่ทอซิ่นตีนจกส่งเป็นเครื่องบรรณาการถวายเจ้านายในคุ้มเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งสถานะของผู้สวมใส่ บ่งบอกได้จากลักษณะผ้าทอ เช่น สตรีสูงศักดิ์ ทอดิ้นเสริมลวดลายบนผ้าให้โดดเด่น ส่วนชาวบ้านนุ่งผ้าฝ้าย ซิ่นตีนจกยังเป็นผ้าที่อยู่ในวิถีของหญิงสาวชาวเมืองแม่แจ่มตั้งแต่เกิดจนสิ้น เชื่อว่าผ้าที่ติดตัวไปเป็นมงคลส่งดวงวิญญาณสู่สวรรค์

ทุกวันนี้หญิงสาวในแม่แจ่ม หวังมีผ้าทอเป็นสมบัติส่วนตัวอย่างน้อย 1 ผืน ใช้เมื่อเข้าวัดทำบุญหรือร่วมงานประเพณี พร้อมปักปิ่นหรือประดับดอกไว้บนเกล้ามวยผมเป็นเครื่องหมายพุทธบูชา เครื่องแต่งกายของคนพื้นที่ยังสะท้อนวิถีชีวิต และจากภูมิปัญญาของคนแม่แจ่มอีกด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง