นักวิชาการด้านพลังงาน ค้านรัฐบาลผลักภาระต้นทุนเชื้อเพลิงให้ประชาชน

เศรษฐกิจ
18 ก.พ. 56
13:22
112
Logo Thai PBS
นักวิชาการด้านพลังงาน ค้านรัฐบาลผลักภาระต้นทุนเชื้อเพลิงให้ประชาชน

กระทรวงพลังงาน เผยว่า อีก 2 เดือน ประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะฉุกเฉินด้านพลังงาน เพราะแหล่งก๊าซในพม่า จะหยุดผลิต เพื่อซ่อมบำรุงแท่นผลิต และกระทบกับก๊าซที่ถูกส่งมาเพื่อผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย ด้านนักวิชาการอิสระด้านพลังงาน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดผลักภาระต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นไปให้ประชาชน

รัฐบาลขอความร่วมมือประชาชนประหยัดไฟฟ้า ในวันที่ 4-12 เม.ย.56 เพราะมีความเสี่ยงไฟฟ้าดับ เนื่องจาก 6 โรงไฟฟ้าในฝั่งภาคตะวันตก ได้แก่ โรงไฟฟ้าบริษัท ราชบุรีโฮลดิ้ง, โรงไฟฟ้าบริษัทราชบุรีเพาเวอร์, โรงไฟฟ้าบริษัทไตรเอ็นเนอร์ยี่, โรงไฟฟ้าพระนครใต้, โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ และโรงไฟฟ้าวังน้อย กำลังผลิตประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ จะผลิตได้ไม่เต็มที่ จากปัญหาแหล่งก๊าซในพม่าหยุดจ่ายก๊าซ

วิธีแก้ปัญหาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คือ เลื่อนแผนบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าทั้งหมดในช่วงหยุดผลิตก๊าซ ,เร่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากลาว 4 โรงให้เต็มที่ และจะใช้ไฟฟ้าน้ำมันเตา และน้ำมันดีเซล เดินเครื่องทดแทน

ผลที่เกิดขึ้นจากการใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้า คือต้นทุนค่าไฟฟ้าจะเพิ่มเป็น 4 บาท และ 6 บาท หรือ 2-3 เท่าจากต้นทุนค่าไฟฟ้าปัจจุบัน แต่เรื่องที่กังวล คือ รัฐบาลผลักภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่สูงกว่าปกติ ไปรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ เอฟที ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่าย

แต่มีข้อสังเกต ว่าแหล่งก๊าซยาดานาในพม่า หยุดผลิตเพื่อซ่อมบำรุง มีกำลังผลิตก๊าซเพียง 650 ล้านลูกบาศก์ฟุต แต่มีผลต่อเนื่องให้ก๊าซจากแหล่งเยตากุน ป้อนสู่ระบบไม่ได้ด้วย และทำให้ก๊าซหายไปรวม 1,030 ล้านลูกบาศก์ฟุต

โดยมีข้อมูลว่า ก๊าซจากแหล่งผลิตในพม่าทั้ง 2 แห่ง ถูกป้อนให้โรงไฟฟ้าราชบุรี แต่ค่าความร้อนของก๊าซจากทั้งสองแหล่งสูงต่ำไม่เท่ากัน ทำให้โรงไฟฟ้าราชบุรี ปรับให้ค่าความร้อยตรงกับสเป็คที่ต้องการ หรือที่ค่าความร้อน ประมาณ 800 ล้านบีทียู

แต่มีข้อสังเกตว่า ในขั้นตอนการลงทุน เหตุใดโรงไฟฟ้าราชบุรี จึงไม่ปรับระบบเพื่อให้ยืดหยุ่นต่อค่าความร้อน ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน อธิบายว่า เพื่อประหยัดงบประมาณลงทุน การผลิตไฟฟ้าจึงผสมก๊าซทั้งสองแหล่ง ก่อนเข้าสู่โรงไฟฟ้า และเมื่อแหล่งใดเกิดปัญหา ก๊าซอีกแหล่งจึงใช้ไม่ได้

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไฟศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยอมรับว่า ความเสี่ยงในครั้งนี้ เกิดจากการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้ามากเกินไป ที่สัดส่วนกว่าร้อยละ 70 และอนาคตก๊าซในอ่าวไทยจะน้อยลงในอีก 10 ปีข้างหน้า จึงควรกระจายความเสี่ยงของเชื้อเพลิง

แต่สิ่งที่ขัดแย้งกัน คือ รัฐมนตรียังยืนยัน เดินหน้าประมูลผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือ IPP 5,400 เมกะวัตต์ ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง เพราะได้ประกาศรับซื้อจากเอกชนไปเรียบร้อยแล้ว หากอนาคตไม่มีก๊าซเพียงพอต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจี ที่ต้องนำเข้าจากตะวันออกกลางและมีราคาแพง
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง