กฟผ. เตรียมแผนรับมือ"วิกฤตท่อก๊าซพม่า"ห่วงอีก 10 ปีแหล่งก๊าซอ่าวไทยหมด

สังคม
18 ก.พ. 56
13:25
726
Logo Thai PBS
กฟผ. เตรียมแผนรับมือ"วิกฤตท่อก๊าซพม่า"ห่วงอีก 10 ปีแหล่งก๊าซอ่าวไทยหมด

กฟผ. ใช้แผนดึงโรงไฟฟ้าน้ำมันเตา-ดีเซล เดินเครื่องทดแทน ระบุไม่ยอมให้เกิดไฟดับวงกว้าง ต้องนำเข้าแอลพีจี จากต่างประเทศผลิตไฟฟ้า หวั่นกระทบค่าไฟฟ้า พร้อมดันการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศ มีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ เชื้อเพลิงราคาถูก

 นายพงษ์ดิษฐ  พจนา  รองผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  (กฟผ.)   ในฐานะโฆษก กฟผ. เผยถึงสถานการณ์กรณีการหยุดผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา วันที่ 4-12 เมษายน 2556 โดย ปตท. แจ้งว่ามีการทรุดตัวของแท่นขุดเจาะที่แหล่งยาดานาประเทศพม่า ทำให้ก๊าซธรรมชาติหายไปวันละ 1,030 ล้าน ลบ.ฟุต  คิดเป็นกำลังผลิตประมาณ 6,000 เมกะวัตต์  ซึ่งก๊าซที่หายไปจะส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าในฝั่งภาคตะวันตกทั้งหมด  ได้แก่ โรงไฟฟ้าบริษัท ราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)    โรงไฟฟ้าบริษัทราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด   และโรงไฟฟ้าบริษัทไตรเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด  โรงไฟฟ้าพระนครใต้  โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ และโรงไฟฟ้าวังน้อย  

            
รองผู้ว่าการกิจการสังคม กฟผ.  กล่าวว่า  ในช่วงที่มีการหยุดผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา   ระหว่างวันที่ 4-12 เมษายน 2556  จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดประมาณ 26,500 เมกะวัตต์    จะส่งผลให้ช่วงดังกล่าวมีกำลังผลิตสำรองในระบบต่ำกว่ามาตรฐาน   ซึ่งในส่วนของ  กฟผ.  ได้เตรียมมาตรการรับมือสถานการณ์ดังกล่าว  เพื่อป้องกันผลกระทบไม่ให้เกิดไฟดับไว้ 8 แนวทาง   คือ  1) เตรียมนำโรงไฟฟ้าน้ำมันเตา  และน้ำมันดีเซล    เดินเครื่องทดแทนโรงไฟฟ้าก๊าซที่หายไป   โดยคาดการณ์ว่าจะดึงโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงน้ำมันเตามาทดแทน  130 ล้านลิตร  และน้ำมันดีเซล 75 ล้านลิตร  
 
2) รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก หรือ SPP เพื่อเสริมระบบ  
3) เดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเต็มที่  ได้แก่  โรงไฟฟ้าน้ำงึม 2  ขนาด 600 เมกะวัตต์  โรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2  ขนาด 960 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าเทิน-หินบุน  ขนาด 440 เมกะวัตต์  และ โรงไฟฟ้าห้วยเฮาะ ขนาด 126 เมกะวัตต์ 
4) เร่งรัดและจัดแผนทดสอบโรงไฟฟ้าทั้งหมดที่อยู่ในข่ายต้องเดินเครื่องด้วยเชื้อเพลิงดีเซลให้มีความพร้อมในการเดินเครื่องก่อนเริ่มหยุดผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยานาดา  
5) ประสานงานกรมชลประทานเพิ่มการระบายน้ำในการผลิตไฟฟ้า  ลดใช้น้ำมันให้น้อยลง  
6) เลื่อนแผนบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าทั้งหมดในช่วงหยุดผลิตก๊าซ  
7) ประสานงานการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)  ย้ายโหลดสถานีไฟฟ้าแรงสูงลาดพร้าว และสถานีไฟฟ้าแรงสูงรัชดาภิเษก   และประสานงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)    ย้ายโหลดออกจากบริเวณสถานีไฟฟ้าแรงสูงสามพราน 1 ประมาณ    200 เมกะวัตต์  ไปสถานีไฟฟ้าแรงสูงข้างเคียง  เพื่อช่วยเพิ่มแรงดันที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงบางกอกน้อย  และ    
8) ประสานงาน กฟภ.  และ กฟน.   เตรียมแผนดับไฟฟ้า สำหรับรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินหน่วยงานละ 350 เมกะวัตต์ 
             
ทั้งนี้ แนวโน้มสถานการณ์ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยจะหมดลงในอีก 10 ปี ข้างหน้า  ซึ่งประเทศไทยจะต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ  อาจส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงในระบบไฟฟ้า   ทางเลือกในการนำก๊าซธรรมชาติเหลวในรูปของแอลเอ็นจีจากต่างประเทศ ก็มีราคาสูงเป็น 2 เท่า  ทำให้มีผลต่อราคาค่าไฟที่จะต้องปรับขึ้นในอนาคต   ทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดที่จะคลี่คลายปัญหาดังกล่าวได้คือ  การพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ในประเทศ โดยแสวงหาเชื้อเพลิงทางเลือกอื่นทดแทนก๊าซธรรมชาติ   
 
ที่สำคัญควรเป็นเชื้อเพลิงที่มีความเสถียรต่อระบบไฟฟ้า  ทำให้ราคาค่าไฟถูก  ซึ่งกระทรวงพลังงาน และ กฟผ. เล็งเห็นว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินนำเข้าเป็นทางออกที่ลงตัวที่สุดในขณะนี้  ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ สามารถกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้อย่างสมบูรณ์    ซึ่งนานาประเทศได้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินมาแล้วอย่างยาวนาน  และมีแนวโน้มจะผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงดังกล่าวในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย   


ข่าวที่เกี่ยวข้อง