ที่ประชุม รับมือวิกฤตพลังงาน มีมติสั่งสำรองน้ำมันผลิตไฟฟ้าแทนก๊าซ

เศรษฐกิจ
21 ก.พ. 56
03:52
91
Logo Thai PBS
ที่ประชุม รับมือวิกฤตพลังงาน มีมติสั่งสำรองน้ำมันผลิตไฟฟ้าแทนก๊าซ

การประชุมวางมาตรการรับมือวิกฤตพลังงานในช่วงที่แหล่งก๊าซยาดานาในพม่า หยุดซ่อมระหว่างวันที่ 5-13 เมษายน มีมติให้สำรองน้ำมันเตา 86 ล้านลิตร และน้ำมันดีเซล 47 ล้านลิตร ไว้เป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้าแทนก๊าซ ซึ่งกระทรวงพลังงาน ในฐานะผู้รับผิดชอบหลัก ยังไม่มั่นใจสถานการณ์ไฟตกไฟดับ

การประชุมรองรับสถานการณ์ภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานร่วมกัน ระหว่างกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีมติที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้า สำรองน้ำมันเตา 86 ล้านลิตร และน้ำมันดีเซล 47 ล้านลิตร รวม 133 ล้านลิตร ไว้เป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้าแทนก๊าซ

พร้อมทั้งสั่งให้มีการณรงค์ประหยัดพลังงาน ทั้งในส่วนของประชาชน และส่วนราชการ ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ได้มีคำสั่งก่อนหน้านี้ โดยวันที่ 5 เมษายน กระทรวงพลังงานจะจัดกิจกรรมรณรงค์ ลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลา 14.00-14.30 น.และวันที่ 13 มีนาคม จะจัดซ้อมแผนรองรับสภาวะวิกฤตด้านพลังงานของประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางเตรียมความพร้อมให้แก่ประเทศหากเกิดภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานต่อไป

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ระบุว่า มาตรการสำรองน้ำมัน เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนก๊าซ จะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ เอฟที เพิ่มขึ้น 2.20 สตางค์ต่อหน่วย แต่ได้คำนวณไว้ล่วงหน้าในค่าเอฟทีรอบเดือนมกราคมถึง เมษายนไปแล้ว 1.70 สตางค์ต่อหน่วย จึงเหลืออีก 0.48 สตางค์ต่อหน่วย ที่จะนำไปคำนวณค่าไฟในรอบถัดไป

ด้าน นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ยอมรับว่า การสำรองผลิตไฟฟ้าต่ำมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เนื่องจากความต้องการใช้ไฟเพิ่มขึ้น แต่โรงไฟฟ้าใหม่เข้าระบบปีนี้ จากผู้ผลิตไฟรายเล็กหรือ เอสพีพี มีเพียง 300 กว่าเมกะวัตต์เท่านั้น ประกอบกับเขื่อนปีนี้น้ำน้อย จึงนำมาเป็นสำรองพร้อมจ่ายได้ต่ำกว่าปกติ ซึ่งการหยุดจ่ายก๊าซฯ ถือเป็นกรณีเลวร้ายสุดพื้นที่เสี่ยงจะเกิดไฟตกจะเป็นบริเวณกรุงเทพและพื้นภาคใต้บางส่วน ซึ่งส่วนใหญ่จะรับไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าฝั่งตะวันตกป็นหลัก

ส่วนปริมาณการใช้ไฟฟ้าวันที่ 5 เมษายน ซึ่งเป็นวันแรกของการปิดซ่อมแหล่งก๊าซในพม่า จะเป็นวันที่มีความเสี่ยงจะเกิดไฟตกมากที่สุด เนื่องจากอุณหภูมิสูงสุดในรอบปี จึงน่าจะมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ในขณะที่สำรองผลิตไฟฟ้าพร้อมจ่ายอยู่เพียง 600 เมกะวัตต์ จากระดับปกติควรอยู่ที่ 1,200 เมกะวัตต์

ขณะที่ กระทรวงสาธารณสุข จะเจรจากับการไฟฟ้าฯ ให้จัดลำดับความสำคัญของหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขไว้ในลำดับต้นๆ ของการจ่ายกระแสไฟฟ้า โดยเฉพาะโรงพยาบาล ที่ต้องใช้เครื่องมือ อุปกรณ์การแพทย์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย และให้โรงพยบาลเตรียมเครื่องปั่นไฟฟ้าสำรองให้พร้อม สำรองน้ำมันเชื้อเพลิงไว้พร้อมใช้งานตลอดเวลา รวมถึงเตรียมเคลื่อนย้ายส่งต่อผู้ป่วยที่จำเป็นกรณีฉุกเฉิน ในกรณีเกิดปัญหาไฟฟ้าดับ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย

ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงข่าวในหัวข้อ "เราผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ไม่ง้อก๊าซ" โดยระบุว่า ความตื่นตัวเรื่องภาวะขาดแคลนพลังงานของรัฐเกิดขึ้นทุกปี เพราะรัฐใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติที่ต้องนำเข้า และผูกขาดเพียงบริษัทเดียว ซึ่งในความจริง สามารถเลือกใช้พลังงานจากแหล่งอื่นที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ จึงเรียกร้องให้มีการส่งเสริมพลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง

ด้านนายบุญยืน ศิริพันธุ์ ประธานสหพันธุ์คุ้มครองผู้บริโภค เรียกร้องให้รัฐบาล ดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาพลังงานเพื่อการพึ่งพาตนเอง เช่น ควรเป็นตัวอย่างติดตั้งโซ่ล่าเซลล์ ผลิตไฟฟ้าใช้เอง ผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดบนหลังคาได้ โดยไม่อยากให้บุคลากรด้านพลังงาน อย่าคิดแต่เรื่อง โรงไฟฟ้าถ่านหิน และนิวเครีย์ เพราะเราสามารถผลิตไฟฟ้าได้เอง ทั้งจากพลังงานแสงแดด และลม ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง