กฎหมายควบคุมการค้าไม้ของ"อียู"...ธุรกิจแปรรูป"ไม้ยางพาราไทย" ได้หรือเสีย?

22 ก.พ. 56
12:04
497
Logo Thai PBS
กฎหมายควบคุมการค้าไม้ของ"อียู"...ธุรกิจแปรรูป"ไม้ยางพาราไทย" ได้หรือเสีย?

มาตรการควบคุมการค้าไม้ของกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ที่จะบังคับใช้ในเดือนมีนาคม 2013 แม้จะไม่สร้างผลกระทบในแง่ลบต่อธุรกิจไม้ยางพารามากนัก

 แต่ไทยเองก็ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับโอกาสที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากมาตรการดังกล่าว โดยเร่งสร้างระบบการออกใบรับรองความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ยางพาราและเดินหน้าเจรจาข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (Voluntary Partnership Agreement : VPA) กับอียู พร้อมทั้งเร่งวิจัยพัฒนาพันธุ์ยางและลงทุนยกระดับประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต

 
นโยบายด้านอุปทานในการปกป้องป่าไม้ (Supply side management) ในช่วงทศวรรษ 1980 ส่งผลให้ไม้ยางพาราก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ ในอดีต ต้นยางพาราที่เกษตรกรตัดโค่นเพื่อที่จะปลูกต้นใหม่ทดแทน (ต้นยางอายุราว 25-30 ปีจะให้ปริมาณน้ำยางลดลงจนไม่คุ้มกับการกรีดเพื่อเอาน้ำยาง) จะถูกเผาทิ้งหรือนำมาทำเป็นเชื้อเพลิง โดยมิได้นำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้แต่อย่างใด จนกระทั่งมีการดำเนินนโยบายปิดป่าของประเทศเขตร้อนในช่วงทศวรรษ 1980 ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนไม้ป่าเขตร้อน เช่น   ไม้สัก ไม้ประดู่ 
 
ขณะที่ความต้องการเฟอร์นิเจอร์ไม้ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้หันมาใช้ไม้ยางพาราเพื่อทดแทนไม้ป่ามากขึ้น ซึ่งจากคุณสมบัติของไม้ยางพาราที่มีสีขาวนวล จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ไม้สักขาว (White Teak) หรือไม้โอ๊คมาเลเซีย (Malaysian Oak)” กอปรกับมีราคาถูกกว่าไม้เนื้อแข็งชนิดอื่นๆ อยู่ราว 40% ส่งผลให้ไม้ยางพาราได้รับความนิยมสูงและก้าวเข้ามาเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ เห็นได้จาก สัดส่วนของการผลิตในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ของไทย
 
ในช่วง 2-3 ปีหลังนี้ มีการใช้วัตถุดิบจากไม้ยางพาราสูงถึง 80% จากที่ไม่เคยใช้มาก่อนเลยในอดีต และสัดส่วนมูลค่าการส่งออกไม้ยางพาราแปรรูปต่อมูลค่าการส่งออกไม้แปรรูปรวมของไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกไม้แปรรูปเขตร้อนอันดับหนึ่งของโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 26% ในปี 1992 เป็น 99% ในปี 2011 
 
ในขณะที่กฎหมายควบคุมการค้าไม้ของ EU ที่จะบังคับใช้ในเดือนมีนาคม 2013 เป็นนโยบายด้านอุปสงค์ในการปกป้องป่าไม้ (Demand side management) ที่มีผลครอบคลุมถึงไม้ยางพาราที่ส่งออกไปยังตลาด EU การใช้มาตรการปกป้องป่าไม้ด้านอุปทานเพียงอย่างเดียวไม่สามารถช่วยปกป้องป่าไม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากนัก 
 
เห็นได้จากการประมาณการของ World Bank ในปี 2012 ที่พบว่า ทุกๆ สองนาที พื้นที่ป่าไม้ขนาดเท่าสนามฟุตบอล ยังคงถูกตัดโค่นโดยกลุ่มผู้ค้าไม้เถื่อน ส่งผลให้ประเทศผู้นำเข้าไม้ที่สำคัญ หันมาใช้มาตรการควบคุมด้านอุปสงค์ควบคู่กันไป โดยการห้ามนำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากไม้เถื่อนภายในประเทศ 
 
โดยล่าสุดภายใต้แผนปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้า (Forest Law Enforcement, Governance and Trade : FLEGT) ของ EU ได้มีการออกกฎระเบียบควบคุมการค้าไม้ ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในเดือนมีนาคม 2013 กำหนดให้ผู้นำเข้าไม้ใน EU ที่นำเข้าไม้ทุกชนิดจากประเทศที่ยังไม่ได้เจรจา VPA เพื่อหยุดการค้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่ผิดกฎหมายกับ EU (ไทยยังไม่ได้เริ่มดำเนินการเจรจา) จะต้องปฏิบัติตามระบบ Due Diligence โดยการเก็บข้อมูลแหล่งที่มาและพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งที่ไม้ถูกโค่น 
 
สำหรับผลกระทบต่อไทย คือ ผู้ประกอบการที่ส่งผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราไปยังตลาด EU จะต้องแบกรับภาระต้นทุนในการดำเนินการเพื่อยืนยันความถูกต้องตามกฎหมาย แต่ผลกระทบดังกล่าวยังอยู่ในวงจำกัด 
 
การที่ไม้ยางพาราไม่ได้เป็นไม้ควบคุมตาม พ.ร.บ ป่าไม้ ทำให้ไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการออกใบรับรองแหล่งที่มาและความถูกต้องตามกฎหมาย ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราไป EU จะต้องดำเนินการขอใบรับรองจากหน่วยงานภาคเอกชนซึ่งเป็นที่ยอมรับ เช่น FSC (Forest Stewardship Council) ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนในการทำการค้าเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย 
 
อย่างไรก็ดี ผลกระทบดังกล่าวอยู่ในวงที่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราแปรรูปส่วนใหญ่ของไทยราว 97% ส่งออกไปยังตลาดจีน (รูปที่ 3) แต่กระนั้นผลกระทบทางอ้อมต่อไทยอาจเพิ่มขึ้นได้ ถ้าผู้ส่งออกไม้ยางพาราถูกร้องขอใบรับรองจากผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ในจีนที่ผลิตเพื่อส่งออกต่อไปยังตลาด EU  โดยจากข้อมูลพบว่าในปี 2011 จีนมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ไป EU ราว 16% ของมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ทั้งหมด
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง