แพทย์จุฬาฯ ชี้อาหารปนเปื้อนเนื้อม้า ตรวจพบสาร"เฟนิลบิวทาโซน" ยาแก้อักเสบใช้กับม้า

สิ่งแวดล้อม
22 ก.พ. 56
12:11
2,703
Logo Thai PBS
แพทย์จุฬาฯ ชี้อาหารปนเปื้อนเนื้อม้า ตรวจพบสาร"เฟนิลบิวทาโซน" ยาแก้อักเสบใช้กับม้า

 

ศ.นพ.ยง  ภู่วรวรรณ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า  ขณะนี้ทางทวีปยุโรปได้ตรวจพบอาหารหลากหลายประเภทที่มีส่วนผสมของเนื้อม้าปนเปื้อนในอาหารที่มีส่วนผสมของเนื้อ ทั้งนี้การปนเปื้อนดังกล่าวพบครั้งแรกในเบอร์เกอร์เนื้อซึ่งขายอยู่ในห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ในอังกฤษ จึงก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากท่ามกลางผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าจากห้างดังกล่าว ระยะเวลาใกล้เคียงกันประเทศไอร์แลนด์ก็ตรวจพบการปนเปื้อนเนื้อม้าในเบอร์เกอร์ด้วยเช่นเดียวกัน สาเหตุที่ต้องปนเนื้อมาอาจ เนื่องมาจากเนื้อม้า เป็นเนื้อที่มีราคาถูกกว่า 
 
ทั้งนี้ เบอร์เกอร์ส่วนใหญ่ที่สุ่มตรวจจากห้างสรรพสินค้าดังกล่าวในอังกฤษพบการปนเปื้อนเนื้อม้าเพียงเล็กน้อย  มีเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นที่มีการปนเปื้อนถึงร้อยละ 29  ห้างดังกล่าวได้ออกมายอมรับและระงับการนำเข้าเนื้อจากผู้ผลิต 2 แห่งที่ตั้งอยู่ในอังกฤษและไอร์แลนด์ โดยรับเนื้อส่วนใหญ่มาจากผู้ผลิตในไอร์แลนด์ 
 
แม้ว่าเนื้อม้าที่ปนเปื้อนจะไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคแต่ส่งผลกระตุ้นให้ทุกคนตื่นตัวถึงส่วนประกอบของอาหารที่ตนเองได้รับในแต่ละวัน นอกจากเบอร์เกอร์แล้วทางห้างยังพบการปนเปื้อนเนื้อม้าในสปาเกตตี้โบโลเนสแช่แข็ง รวมถึงในผู้ผลิตอาหารรายอื่นๆก็ตรวจพบเนื้อม้าปนเปื้อนใน ลาซานญ่า ทอร์เทลลินี และ พาย ทั้งนี้มาตรการในการจัดการกับอาหารที่ตรวจพบการปนเปื้อนคือเก็บสินค้าลงมาจากชั้นจำหน่าย ยุติการนำเข้าเนื้อจากบริษัทที่ตรวจสอบพบการปนเปื้อน รวมถึงเตรียมหามาตรการเอาผิดกับผู้ที่เป็นต้นเหตุของการปลอมปนสินค้า
 
นพ. ยง กล่าวว่า สำหรับประเทศที่พบการปนเปื้อนเนื้อม้าแล้วขณะนี้ ได้แก่ อังกฤษ ไอร์แลนด์ สวีเดน ฝรั่งเศส โรมาเนีย ลักเซมเบิร์ก เยอรมณี นอร์เวย์ เดนมาร์ก มีรายงานว่านอกจากจะตรวจพบการปนเปื้อนเนื้อม้าแล้ว ยังพบยา ซึ่งเป็นยาต้านการอักเสบที่ใช้กับม้า หากมนุษย์รับประทานในปริมาณมากอาจก่อให้เกิดมะเร็งรวมถึงผลข้างเคียงอื่นๆ แต่ทั้งนี้ปริมาณของยาที่ตรวจพบในเนื้อมากที่สุดอยู่ที่ 1.9 มิลลิกรัมต่อเนื้อ 1 กิโลกรัม ทั้งนี้ขนาดปริมาณของยาที่ก่อให้เกิดโรคในมนุษย์นั้นจะต้องบริโภคเบอร์เกอร์ถึง 600 ชิ้นทีเดียว ด้วยปริมาณของยาเพียงเท่านี้จึงไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคแต่อย่างใด
 
นพ.ยง กล่าวว่า แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้บริโภคในวงกว้างหันมาตระหนักถึงแหล่งที่มาของอาหารในแต่ละวันของพวกเขามากยิ่งขึ้น การตรวจอาหารปนเปื้อนเนื้อสัตว์ชนิดต่าง ๆ สามารถตรวจ  DNA  จำเพาะของสัตว์ชนิดนั้น ๆ ได้อย่างแม่นยำ และรวดเร็ว และสามารถวิเคราะห์เชิงปริมาณได้ด้วย ประเทศไทยควรสนับสนุนวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ศึกษา  DNA  ของสัตว์สายพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการตรวจวินิจฉัยหาความจำเพาะของสัตว์ต่าง ๆ โดยเฉพาะในอาหาร
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง