"พงศ์เทพ" ชี้ชุมชนวัดไตรมิตร ต้นแบบชุมชนเตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

สังคม
22 ก.พ. 56
12:27
188
Logo Thai PBS
"พงศ์เทพ" ชี้ชุมชนวัดไตรมิตร ต้นแบบชุมชนเตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

รมว.ศึกษาธิการ ชี้ชุมชนวัดไตรมิตร ต้นแบบชุมชนเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ฝึกเยาวชนเรียนรู้ภาษาที่ 3 ขณะที่มูลนิธิร่มฉัตร-สสค. เล็งขยายผลสู่ 4 จังหวัด “สมุทรสาคร-เชียงราย-อุบล-สงขลา”ท่านเจ้าคุณเผย สมุทรสาคร แรงงานต่างด้าวสูงสุดของประเทศ พบ90% เป็นชาวพม่า จึงควรเรียนรู้ภาษา-วัฒนธรรม พร้อมเปิดพื้นที่สงขลา เป็นประตูสู่ภาษามลายูหวังเชื่อมโลกมุสลิม 50% ของอาเซียน

วันนี้( 22 ก.พ.)  ที่วัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เข้าพบพระธรรมภาวนาวิกรม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร และประธานมูลนิธิร่มฉัตร เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานชุมชนต้นแบบวัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร ชุมชนต้นแบบของการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประกอบด้วย ห้องเรียนขงจื้อแห่งแรกของโลก โรงเรียนวัดไตรมิตรวิทยาลัย และห้องศึกษาอาเซียน โรงเรียนมหาวีรานุวัตร

นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ชุมชนวัดไตรมิตร มีการสอนถึง 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ  และจีน ซึ่งภาษาอังกฤษถือเป็นภาษากลางที่ใช้ในการสื่อสารของกลุ่มประชาคมอาเซียน แต่การเรียนการสอนของชุมชนวัดไตรมิตร ได้มีการสอนแล้วถึง 3 ภาษา   โดยเปิดสอนภาษาจีน เป็นภาษาที่ 3 ผ่านห้องเรียนขงจื้อแห่งแรกของโลก ซึ่งถือเป็นภาษาที่สำคัญ เพราะต่อไปจะมีการเปิดรถไฟความเร็วสูงซึ่งคาดว่าจะมีคนจีนหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน

ขณะที่ พระธรรมภาวนาวิกรม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร และประธานมูลนิธิร่มฉัตร กล่าวว่า ชุมชนวัดไตรมิตรวิทยาราม หรือชุมชนเยาวราช เป็นชุมชนต้นแบบในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยความร่วมมือกันของ “บวร” ซึ่งประกอบด้วย บ้านหรือชุมชน วัดหรือศาสนาทุกศาสนา และรัฐ ซึ่งรวมถึงโรงเรียนและหน่วยงานของรัฐ ในการวิเคราะห์จุดแข็งของชุมชน โดยจุดแข็งของชุมชนเยาวราช คือ ทองคำ 3 อย่าง 1.หลวงพ่อทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก 2. ร้านค้าทองคำแหล่งใหญ่ที่สุดในประเทศ และ 3.วัฒนธรรมทองคำจากคนไทยเชื้อสายจีน ดังนั้นจึงมีการส่งเสริมเรื่อง “ภาษา” ทั้งภาษาอังกฤษ จีน และพม่า เพื่อรองรับการค้าและการท่องเที่ยว จึงเป็นการต่อยอดจุดแข็งของชุมชนเยาวราชในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

 “จากชุมชนเยาวราชซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบของการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มูลนิธิร่มฉัตร จึงร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ขยายผลสู่โมเดลระดับจังหวัด ครอบคลุมในพื้นที่ 4 ภูมิภาคได้แก่ ภาคเหนือ จ.เชียงราย, ภาคอีสาน จ.อุบลราชธานี, ภาคกลาง จ.สมุทรสงคราม และภาคใต้ จ.สงขลา เช่น จ.สมุทรสาคร ที่มีประชากรแรงงานต่างด้าวมากที่สุดของประเทศ ซึ่ง 90% เป็นแรงงานพม่า สูงถึง 196,057 คน จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมพม่า ซึ่งโมเดลจังหวัดนำร่องคาดหวังให้เกิดความตื่นตัวในระดับจังหวัดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” พระธรรมภาวนาวิกรม กล่าว  

ด้านนพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสสค. กล่าวว่า อีก 1,000 วัน (31 ธ.ค.58) ประเทศไทยจะเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งการเตรียมความพร้อมของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมได้รุดหน้าไปมาก ขณะเดียวกันภาคการผลิตและชุมชนต้องสอดรับกับการเปลี่ยนแปลง สสค.จึงส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยร่วมกับมูลนิธิร่มฉัตร เพื่อขยายผลการทำงานจากชุมชนวัดไตรมิตรไปสู่พื้นที่ 4 จังหวัด ครอบคลุมใน 4 ภูมิภาค โดยนำรูปแบบของ “ไตรมิตรโมเดล”ที่ดึงพลังความร่วมมือของชุมชน องค์กรทางศาสนา สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาร่วมกันประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนของชุมชน พร้อมกับรู้เขารู้เราเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และนำสู่การเตรียมความพร้อมตามบริบทของแต่ละชุมชน เช่น การเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมพม่า ในพื้นที่นำร่องจังหวัดเชียงราย และสมุทรสงคราม ซึ่งมีแรงงานพม่ามาอยู่มากที่สุดของประเทศ การเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมเวียดนาม ในจ.อุบลราชธานี   และภาษามลายู ในจ.สงขลา ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงประชากรมุสลิมที่มีถึง 50% ของประชากร 600 ล้านคนในกลุ่มประเทศอาเซียน    


ข่าวที่เกี่ยวข้อง