เปิดแผนแม่บท"ไจก้า"แก้ปัญหาน้ำท่วม

23 ก.พ. 56
13:37
148
Logo Thai PBS
 เปิดแผนแม่บท"ไจก้า"แก้ปัญหาน้ำท่วม

ขณะที่รัฐบาลไทยกำลังเดินหน้าการประมูลโครงการป้องกันน้ำท่วม 10 โครงการ มูลค่า 350,000 ล้านบาท แต่ร่างแผนการบริหารจัดการอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ ไจก้า กลับให้ผลสวนทาง โดยเสนอว่าควรก่อสร้างเพียงบางอย่าง ซึ่งจะลดงบประมาณได้มากถึงร้อยละ 70 สิ่งที่ทำให้การศึกษาไจก้าต่างจากโครงการรัฐบาลในขณะนี้ ก็คือ ทั้ง 10 โครงการเป็นเพียงการศึกษาเฉพาะจุดที่ไม่ได้เชื่อมโยงกัน แต่ไจก้าได้ศึกษาภาพรวมในการจัดการน้ำลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาใหม่เกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว

ผู้เชี่ยวชาญไจก้านำเสนอร่างแผนแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ จัดทำร่วมกับหลายหน่วยงานของไทย พบว่า แผนสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่รัฐบาลไทยจะสร้างถึง 10 โครงการ มูลค่ากว่า 350,000 ล้านบาท ไม่จำเป็นต้องสร้างทุกโครงการ

เพียงแค่ไทยควรจัดการน้ำในเขื่อนใหญ่ให้ดีกว่านี้ ขุดลอกแม่น้ำเจ้าพระยาให้ระบายน้ำให้ดีขึ้น สร้างทางระบายน้ำหรือฟลัดเวย์เพิ่มขึ้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และขยายคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ร่วมกับมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างเพื่อให้ชุมชนในที่ราบลุ่มภาคกลางอยู่กับน้ำได้ ก็จะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ ซึ่งจะช่วยลดงบประมาณการก่อสร้างลดลง เหลือเพียง 105,000 ล้านบาท หรือเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น

แต่นายปลอดประสพ  สุรัสวดี ประธาน กบอ. ยังคงยืนยันว่า ประเทศไทยยังจำเป็นต้องก่อสร้างทุกโครงการ เช่น ต้องสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำยม และเส้นทางระบายน้ำขนาดใหญ่ หรือ ฟลัดเวย์
                                      

<"">

แต่ รศ.เสรี ศุภราทิตย์ กรรมการ กยน. อธิบายว่า แผนแม่บทที่ไทยใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบัน ก็เกิดจากการศึกษาของไจก้า หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2538 เมื่อรัฐบาลไทยขอให้ไจก้าศึกษาปรับปรุงแผนแม่บทให้ใหม่ในเวลานี้ ก็ควรเลือกสร้างเพียงบางโครงการ อย่างที่ไจก้าเสนอมา
                                      
<"">

ส่วน อรรถพล อรุโณรส ผู้นำเครือข่ายประชาชนคนปทุมธานีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ให้ความเห็นว่า การก่อสร้างโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม รัฐบาลควรรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ก่อน และไม่ควรเพิกเฉยกับข้อมูลของไจก้า
                        
คาดว่าแผนการบริหารจัดการอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาของไจก้า จะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคมนี้ ขณะที่กรมชลประทานให้ข้อมูลว่า รัฐบาลจะนำแผนแม่บทของไจก้า มาเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่าจะก่อสร้างทั้ง 10 โครงการ เพื่อป้องกันน้ำท่วมหรือไม่เท่านั้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง