ภูมิปัญญา"หมอเมือง"สู่"ผู้ต้องขัง" เพิ่มทักษะความรู้สู่การเริ่มต้นชีวิตใหม่

Logo Thai PBS
ภูมิปัญญา"หมอเมือง"สู่"ผู้ต้องขัง" เพิ่มทักษะความรู้สู่การเริ่มต้นชีวิตใหม่

ภูมิปัญญาแพทย์พื้นบ้านหมอเมือง ขยายพรมแดนความรู้สู่ผู้ต้องขัง ไม่เพียงช่วยบำบัดโรคทางกายให้ผู้ป่วยที่ด้อยโอกาสทางการรักษา แต่ยังสร้างทักษะอาชีพหมอเมืองในเบื้องต้น เป็นวิชาติดตัวเพื่อเริ่มชีวิตใหม่ในวันที่พ้นโทษ

การนวดกดจุดคลายกล้ามเนื้อขา สลายภาวะความแข็งตัวของหลอดเลือดลดอาการปวด คือวิธีรักษาที่เรียกว่า ลมปลายปัตฆาตสัญญาณหลัง 3 ที่แพทย์แผนไทยและนักศึกษาวิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ใช้บำบัดให้กับผู้ต้องขังหญิงวัย 54 ปี

<"">
<"">

นี่เป็นองค์ความรู้หมอพื้นบ้านหรือหมอเมืองในงานรักษาพยาบาลในคลินิกแพทย์แผนไทยเรือนจำกลางเชียงราย เปิดเยียวยาโรคที่การแพทย์แผนปัจจุบันเสียค่าใช้จ่ายมากและใช้เวลานาน  อย่างกลุ่มโรคอัมพาต อาการข้อติด สะบักจม ตลอดจนจัดยาสมุนไพรบำบัดเป็นทางเลือกให้กับผู้ต้องขังที่เจ็บป่วย ซึ่งมากกว่าร้อยละ 30 ของผู้ต้องขังกว่า 5,000 คนที่นี่ เป็นชาวเขาเผ่าต่างๆ คุ้นกับหมอพื้นบ้าน สอดคล้องกับบริการที่นำองค์ความรู้หมอเมืองมาขยายผลเพื่อสังคม          

นางเอ(ยามสมมติ) ผู้ต้องขังที่มาบำบัดรักษา กล่าวว่า "อาการก็ดีขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ล้มเดินแล้วปวด กระดูกลั่น กลางคืนนอนไม่ได้เลย พอมารักษาก็ดีขึ้น"

ด้าน กฤช กระแสร์ทิพย์ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงราย กล่าวว่า "ในเรือนจำมีบุคลากรการแพทย์อยู่เพียง 4 ท่านต่อผู้ต้องขังที่มีมากกว่า 5,000 คน การรักษาจึงไม่เพียงพอ การแพทย์แผนไทยที่ทางเรือนจำทำเอ็มโอยูกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายเมื่อปี 2553 จึงเป็นทางเลือกในการรักษาพยาบาลผู้ต้องขัง"

<"">
<"">

ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย นอกจากจะนำมาใช้บำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยของผู้ต้องขังแล้ว ที่เรือนจำชั่วคราวดอยราง สถานที่สำหรับฝึกอาชีพเตรียมความพร้อมสำหรับนักโทษชั้นดีที่ใกล้พ้นโทษ ก็ยังมีพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ใช้ปลูกสมุนไพรโดยให้ผู้ต้องขังเป็นคนดูแล โดยพวกเขาสามารถนำความรู้ไปใช้ได้เมื่อพ้นโทษได้

ผู้ต้องขังในโครงการกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่เรือนจำชั่วคราวดอยราง จะได้เรียนรู้สรรพคุณของพืชสมุนไพรรักษาโรค การเพาะเลี้ยงต้นพันธุ์จากงานในสวน และฝึกหัดทำยาจากบุคลากรแพทย์แผนไทยของวิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านฯ ทำให้ผู้ต้องขังชั้นดีที่อีกราว 1 ปี จะพ้นโทษมีทักษะหมอสมุนไพร โดยต้นพันธุ์กว่า 70 ชนิด ที่เครือข่ายหมอเมืองรวบรวมมาให้เพาะเลี้ยง เพื่อทำยารักษาผู้ป่วยในเรือนจำ เช่นเสลดพังพอนและทองพันชั่งรักษาโรคผิวหนัง บอระเพ็ดใช้แก้ไข้ แก้ร้อนใน หลายคนยังหวังนำความรู้ไปดูแลตนเองและคนรอบข้าง

ขณะที่ นายนคร อินต๊ะวงศ์ รองคณบดี วิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เผยว่า "เป็นการสร้างเครือข่ายรักษาและทำให้ผู้ต้องขังสามารถนำทักษะการใช้ยาสมุนไพรไปใช้หรืออาจพัฒนาเป็นอาชีพได้ในอนาคตเมื่อพ้นโทษ"

กว่า 10 ปี ที่รวบรวมและสังคายนาองค์ความรู้หมอเมืองใน 750 ปี ประวัติศาสตร์ล้านนา จากการถอดตำรายาเก่า วิธีการและผลการรักษาด้วยกระบวนการศึกษาวิจัยเพื่อท้องถิ่น จนได้ตำราเรียนจัดเป็นหลักสูตรแพทย์แผนไทยบัณฑิตในปี 2546 มีแพทย์แผนไทยเข้าสู่ระบบงานพยาบาลสุขภาพไปแล้วกว่า 500 คน ก่อนขยายผลมาสู่การดูแลผู้ป่วยในเรือนจำ และสถานพยาบาลของท้องถิ่นอีกกว่า 10 แห่งในจังหวัดเชียงราย ไม่เพียงถ่ายทอดองค์ความรู้ดั้งเดิมที่เหลืออยู่ของหมอเมืองรุ่นเก่ามาสู่วิชาชีพให้คนอีกรุ่น ยังทำให้พลังจากวิถีธรรมชาติบำบัดเป็นที่ยอมรับและเป็นทางเลือกดูแลสุขภาพที่เกิดจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง