มองการทำหน้าที่ "สื่อ" ผ่านวงเสวนา "ปัญหาชายแดนใต้"

สังคม
24 ก.พ. 56
09:46
197
Logo Thai PBS
 มองการทำหน้าที่ "สื่อ" ผ่านวงเสวนา "ปัญหาชายแดนใต้"

เวทีเสวนา "มองไฟใต้ มองสื่อ ในการเสนอข่าวกรณีบาเจาะ" โดยสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ชี้สื่อควรนำเสนอเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างถูกต้อง รอบด้าน ควบคู่วิเคราะห์สถานการณ์ แนะให้ทุกฝ่ายเจรจาร่วมกัน เพื่อหาทางออกสู่สันติสุข

วันนี้ (24ก.พ.56) สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดเวทีเสวนา" มองไฟใต้ มองสื่อ ในการเสนอข่าวกรณีบาเจาะ"  โดยมีวิทยากร 5 คน ประกอบด้วย พ.อ.ปริญญา ฉายดิลก อดีตโฆษก กอ.รมน. ภาค 4, นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส, นายปกรณ์  พึ่งเนตร หัวหน้าศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา และผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ, นายมนตรี อุดมพงษ์ ผู้สื่อข่าวรายการข่าว 3 มิติ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และนางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ โดยนายเสถียร วิริยะพรรณพงศา ผู้สื่อข่าวอาวุโส สำนักข่าวเนชั่น และคณะอนุกรรมการสิทธิเสรีภาพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ ซึ่งเวทีเสวนานี้มีจุดประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน และเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์รอบด้านต่อประชาชนและสังคมในสถานการณ์ภาคใต้ รวมถึงกระตุ้นเตือนให้สื่อมวลชนตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง ก่อนนำเสนอข่าวโดยเฉพาะในสถานการณ์อ่อนไหว

   

"อดีตโฆษก กอ.รมน. ภาค 4" ชี้ สื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาใต้
อดีตโฆษก กอ.รมน. ภาค 4 ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนกองทัพพัฒนาที่ 4 จ.นราธิวาส หลังจากนั้นสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้มีความรุนแรงต่อเนื่องขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ทหารลงมาประจำและมีบทบาทในในภาคใต้มากขึ้น ซึ่งปัญหาภาคใต้ควรทำความเข้าใจถึงสาเหตุและผลของสถานการณ์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจกับทุกฝ่าย ทั้งนี้มองว่าสื่อเป็นกองทัพที่ 5 ของภาคใต้ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และการเกิดความรู้สึกและความนึกคิดของประชาชน ซึ่งทุกฝ่ายควรทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดสันติภาพในสังคม

 


"สื่อ"ต้องนำเสนอถูกต้อง รอบด้าน

นายก่อเขต กล่าวว่า สื่อมวลชนควรมีวิธีการเสนอข่าวอย่างถูกต้อง รอบด้าน และมีความชัดเจนในข้อมูล รวมทั้งเรื่องการใช้คำในการรายงานข่าวเพื่อลดความรุนแรง และให้เกิดสินติภาพในพื้นที่ชายแดนภาคใต้  ซึ่งกรณีบาเจาะทำให้เกิดความขัดแย้งและการแบ่งแยกดินแดนมากขึ้น ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่มองทหารเป็นศัตรูมากขึ้น  จึงอยากเสนอว่า สื่อมวลชนควรมีทิศทางในการรายงานข่าว,หาหลักในการรายงานข่าว และมีความตระหนักถึงความรุนแรงในการรายงานข่าวว่า ซึ่งจะไม่สร้างผลกระทบกับทั้ง 2 ฝ่าย และควรเจรจาร่วมกัน

    
สอดคล้องกับหัวหน้าศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา ที่เห็นว่า สิ่งสื่อควรทำเป็นอันดับแรกก่อนการนำเสนอข่าว คือการตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง ซึ่งสื่อมวลชนทุกวันนี้มีข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงมาก แต่ขาดการวิเคราะห์ นอกจากนี้ควรใช้คำในการเขียนข่าวที่เป็นกลาง และระวังความรู้สึกของคนในพื้นที่มากขึ้น ไม่ควรใช้คำที่สรุปสถานการณ์

ไม่ต่างจากนายมนตรี ที่มองว่า สื่อมวลชนยังขาดการวิเคราะห์สถานการณ์ และการหาแหล่งที่มาของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบก่อนการรายงานข่าว ซึ่งการนำเสนอเหตุการณ์ในพื้นที่บางครั้ง สื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือของ 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ แต่มีวิธีการใช้ที่แตกต่างกัน ทางด้านรัฐบาลมีการเข้าถึงสื่อมวลชนโดยตรง และชี้นำประเด็น ในขณะที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมีการสร้างสถานการณ์ และมีประเด็น เพื่อให้สื่อมวลชนสนใจทำข่าว แต่หากไม่นำเสนอมากเกินไปจะถูกมองว่าเป็นกระบอกเสียงของกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้ ดังนั้นการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ควรหาสาเหตุจริงของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ และควรรับฟังทุกฝ่าย

"อังคณา"เสนอเจรจาร่วมกัน หาทางออกสู่สันติ
นางอังคณา นีละไพจิตร เสนอให้ทุกฝ่ายหาทางออกร่วมกัน  เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย เหมือนกรณีตากใบ ควรแสดงความรู้สึกร่วม และแสดงความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน  และอยากเสนอให้ผู้นำศาสนาเข้ามามีบทบาทในการชี้นำความยุติธรรมในสังคม โดยการเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง