ทางเลือกใหม่ใช้"ก๊าซชีวภาพ"เติมรถยนต์แทน"เอ็นจีวี"

25 ก.พ. 56
06:48
218
Logo Thai PBS
ทางเลือกใหม่ใช้"ก๊าซชีวภาพ"เติมรถยนต์แทน"เอ็นจีวี"

กรณีการประกาศหยุดจ่ายก๊าซจากแหล่งยาดานาในพม่าที่กระทบถึงการผลิตไฟฟ้าในไทย เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าไทยมีความเสี่ยงด้านพลังงาน จากการพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติมากเกินไป ทางเลือกหนึ่งที่น่าจะช่วยลดความเสี่ยง คือก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน ที่มีคุณสมบัติคล้ายเอ็นจีวี เติมในรถยนต์ได้ และยังผลิตไฟฟ้าได้เช่นกัน

รถยนต์ที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้เชื้อเพลิงเอ็นจีวีสามารถเติมก๊าซจากโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพอัดเพื่อใช้กับรถยนต์ ที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ได้ ใช้พืชพลังงานที่ชื่อ หญ้าเนเปียร์ หรือหญ้าเลี้ยงช้าง ผสมกับมูลสุกรจากฟาร์มในพื้นที่หมักจนได้ก๊าซชีวภาพ และปรับปรุงคุณภาพจนมีคุณสมบัติเทียบเท่าเอ็นจีวี สำหรับยานยนต์ตามประกาศของกรมธุรกิจพลังงานจากโรงงานไม่ต้องลงทุนทำท่อส่งเพราะแต่ละวันรถก๊าซจาก ปตท. จะมารับไปที่ปั๊มในตัวเมือง วันละ 6 ตัน เติมรถเล็กได้ 500 คัน หรือ รถใหญ่ 40 คัน

<"">
<"">

มีข้อมูลว่า ปตท.รับซื้อกิโลกรัมละ 12 - 13 บาท แพงกว่า ราคาหน้าปั๊มเอ็นวีจีที่ปัจจุบัน 10.50 บาทแต่บริษัท ปตท.ระบุว่า คุ้มค่ากว่าเมื่อเทียบกับการต้องขนก๊าซมาจากแหล่งลานกระบือ จ.กำแพงเพชร ที่ระยะทางไกลกว่า 300 กิโลเมตรแม้โรงงานลงทุนไป 100 ล้านบาท แต่ขายได้ราคานี้ก็พอใจ เพราะหญ้าชนิดนี้ปลูกง่าย ส่วนมูลสุกรเหมือนแทบได้เปล่า และยังแก้ปัญหามวลชนเพราะทำให้กลิ่นจากมูลสุกรในฟาร์มลดลงมาก

นอกจากนี้ ก๊าซชีวภาพยังถูกพัฒนาไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า โดยกระทรวงพลังงานตั้งเป้าหมายสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนจากก๊าซชีวภาพ 10,000 แห่งทั่วประเทศ และเพิ่มเข้าไปในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ พีดีพี 2013

รศ.ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ ผู้วิจัยการผลิตก๊าซชีวภาพ มองว่า แม้การผลิตไฟฟ้าจากหญ้าและของเสียต่างๆ จะไม่สะดวกเท่ากับการใช้ก๊าซธรรมชาติ แต่เป็นทางเลือกสำหรับพื้นที่ห่างไกลแนวท่อ ที่จะเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน ให้ชุมชนผลิตไฟฟ้าเองได้ และป้อนวัตถุดิบได้ตลอด 24 ชั่วโมง ต่างจากพลังงานหมุนเวียนบางประเภท เช่น ลม แสงแดด ที่ผลิตพลังงานได้ไม่สม่ำเสมอ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง