“ยิ่งลักษณ์” เตรียมเยือนมาเลเซีย หารือแก้ปัญหาชายแดนใต้

การเมือง
26 ก.พ. 56
03:33
51
Logo Thai PBS
“ยิ่งลักษณ์” เตรียมเยือนมาเลเซีย หารือแก้ปัญหาชายแดนใต้

นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปยังมาเลเซีย ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อหารือแนวทางแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ยังคงเข้มงวดกับการรักษาความปลอดภัยพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานี ที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่งเกิดเหตุไม่สงบในพื้นที่ 29 จุด

มาตรการรักษาความปลอดภัยสถานที่สำคัญในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี เป็นไปอย่างเข้มข้น โดยที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด เจ้าหน้าที่จัดเตรียมพื้นที่เฉพาะไว้สำหรับจอดรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ สำหรับผู้ที่มาติดต่อราชาการ เพื่อป้องกันกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเข้ามาก่อเหตุซ้ำ หลังจากเกิดเหตุความไม่สงบมากถึง 29 จุดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเพิ่มการติดตั้งเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์ เพื่อให้สามารถดำเนินการตัดสัญญาณโทรศัพท์ได้ทันที กรณีมีการข่าวแจ้งถึงการจุดชนวนระเบิดในพื้นที่ต่างๆ

ขณะเดียวกัน เหตุความไม่สงบแบบรายวัน ได้ส่งผลให้บรรยากาศงานเทศกาลสมโภชน์เจ้าแม่ลิ่มก่อเหนี่ยว ซึ่งถือเป็นเทศกาลประจำจังหวัด มีความเงียบเหงาลงกว่าทุกปีที่ผ่านมา แม้ว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง จะปรับแผนในการรักษาความปลอดภัยตามแผนพิทักษ์เมือง โดยเว้นระยะห่างประจำจุด จุดละ 300-500 เมตร แล้วก็ตาม

ส่วนบรรยากาศวันมาฆบูชา ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ แม้จะไม่คึกคักมากนัก แต่ก็พบว่า พุทธศาสนิกชนต่างออกออกมาร่วมทำบุญกันอย่างหนาตา พร้อมทั้งประกอบพิธีเวียนเทียนในช่วงกลางวัน ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยได้ง่ายกว่า

สำหรับการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ มีการเปิดเผยจากฝ่ายความมั่นคงว่า วันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปยังมาเลเซีย เพื่อหารือนอกรอบเกี่ยวกับกรอบข้อตกลงความร่วมมือชายแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งครั้งนี้จะเป็นการหารือในรอบที่ 2 หลังจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปหารือกับทางมาเลเซียแล้วครั้งหนึ่ง

มีรายงานด้วยว่า การเดินทางไปยังมาเลเซียของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ อาจมีการลงนามความร่วมมือระหว่างผู้นำทั้ง 2 ประเทศ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ โดยมาเลเซียจะทำหน้าที่ในฐานะคนกลางเพื่อประสานการพูดคุยระหว่างทางการไทย และกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งภายหลังมีข้อทักท้วงจากฝ่ายความมั่นคงว่า ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนถึงการลงนามในข้อตกลงดังกล่าว เพราะไทยอาจถูกมองว่า ยอมรับว่าประเทศไทยมีกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ซึ่งจะทำให้ดูเป็นเรื่องที่รุนแรงในสายตาขององค์กรระดับโลก จึงมีความเป็นไปได้ว่า อาจไม่มีการลงนามความร่วมมือดังกล่าว และอาจเป็นการออกแถลงการณ์ร่วมของทั้ง 2 ประเทศ

ด้าน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ยืนยันถึงยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ว่า เน้นการแก้แบบสันติ เปิดการพูดคุยตามยุทธศาสตร์ ซึ่งกองทัพพร้อมเจรากับทุกกลุ่มที่มีความเห็นไม่ตรงกัน เพื่อให้สถานการณ์เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับ กลุ่มขบวนการพูโล ที่ได้มีการเจรจามาอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีกลุ่มพูโล เรียกร้องให้มีการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลไทยว่า รัฐบาลต้องมีมาตรการที่สร้างความเชื่อใจและไว้วางใจต่อกัน และต้องรู้ว่าคนที่จะไปพูดคุยนั้นเป็นใคร และมีบทบาทอะไรมากน้อยแค่ไหน และถ้ารัฐบาลไม่ระมัดระวัง ก็อาจจะสร้างปัญหาตามมาแทนที่จะช่วยแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ เรื่องการพูดคุยต้องทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมาก็ทำมาตลอด แต่ไม่ถือเป็นการเจรจา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง