ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ชี้ "ระบบตรวจสอบที่ดี" ช่วยบริหารกรุงเทพฯ ไร้คอรัปชั่น

การเมือง
26 ก.พ. 56
08:28
71
Logo Thai PBS
ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ชี้ "ระบบตรวจสอบที่ดี" ช่วยบริหารกรุงเทพฯ ไร้คอรัปชั่น

5 ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ประชันวิสัยทัศน์ พร้อมเสนอแนวทาง "กทม.โปร่งใส ไร้คอรัปชั่น" ชี้ ต้องมีระบบตรวจสอบที่ดี ชัดเจน รัดกุม ขณะที่ผู้ว่าฯกทม.ต้องพร้อมถูกตรวจสอบจากทุกภาคส่วน ตลอดจนแสดงความรับผิดชอบ เมื่อเกิดการทุจริต

ในเวทีประชันวิสัยทัศน์ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ภายใต้หัวข้อ "วิสัยทัศน์ กรุงเทพโปร่งใส ไร้คอรัปชั่น" ที่จัดขึ้นโดยองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) ร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) นั้นมีผู้สมัครเข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์จำนวน 5 คน ได้แก่ นายโสภณ พรโชคชัย, พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ,นายโฆษิต สุวินิจิต,ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และพล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส

ด้านนายโสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครอิสระ กล่าวว่า ปัญหาการทุจริตในการบริหารกรุงเทพมหานครนั้น จะไม่เกิดขึ้น หากมีกระบวนการตรวจสอบที่ดี รัดกุม และต่อเนื่องจากทุกฝ่ายทั้งองค์กรอิสระ ภาคประชาชน เอกชน รวมถึงหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ หากเกิดการทุจริตขึ้น โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับความสนใจ จะต้องชี้แจงแก่ประชาชนให้รับรู้ถึงข้อเท็จจริง เพราะรูปแบบของการคอรัปชั่นนั้นมีหลากหลาย เช่น การให้สวัสดิการแก่ข้าราชการที่ดีเกินไป หรือการขายเร่แผงลอยตามริมฟุตบาท เป็นต้น

ขณะที่ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย มองว่า ผู้ว่าฯกทม.จะต้องมีความพร้อมในการตรวจสอบข้าราชการของตัวเอง และให้หน่วยงานที่เกี่ยวส่วนเข้ามาตรวจสอบการทำงานของผู้ว่าราชการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ยังเห็นว่า การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการระดับชุมชนนั้น จะสามารถช่วยให้มีการตรวจสอบการทุจริตในทุก ๆ ขั้นตอน และมีความชัดเจนมากขึ้น ตลอดจนการเปิดช่องทางให้ประชาชนร้องเรียนการทุจริต โดยเฉพาะช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

ซึ่งสอดคล้องกับพล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส ผู้สมัครอิสระที่ระบุว่า ผู้ว่าฯกทม.จะต้องพร้อมรับการถูกตรวจสอบ และจำเป็นจะต้องตรวจสอบผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง และในฐานะที่ตัวเองเคยทำงานการต่อต้านการทุจริต จึงมั่นใจว่าจะเข้ามาบริหารงานกทม.ได้อย่างตรงไปตรงมา และไร้ปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ ยังชี้ให้เห็นอีกว่า การทุจริตนั้น ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเพียงเรื่องการทุจริตงบประมาณเท่านั้น แต่เรื่องของการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการก็ถือเป็นการทุจริตด้วย ดังนั้น การแก้ไขปัหาการทุจริตจะต้องเริ่มแก้ที่ตัวเองเป็นหลัก

ต่างจากนายโฆสิต สุวินิจิต อีกหนึ่งผู้สมัครอิสระ ระบุว่า ระบบของการบริหารจัดการ คือ ช่องโหว่งให้เกิดการทุจริต ดังนั้นการจะต้องมีการบริหารแบบเอกชน ด้วยการให้ค่าตอบแทน ตามหน้าที่ ความสามารถ และสภาพความเป็นจริงของตำแหน่ง ๆ อย่างคุ้มค่า เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการหลีกเลี่ยงการทุจริต รวมไปถึงจะต้องมีการประเมินผลงานตลอดเวลา และแสดงความรับผิดชอบหากผลงานไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ การตรวจสอบถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยป้องกันการทุจริต ขณะเดียวกันผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. จะต้องรับผิดชอบตลอดโครงการด้วย นอกจากนี้ยังเห็นว่า การใช้สื่อ ทั้งโฆษณา ละคร ภาพยนตร์ให้เป็นประโยชน์ จะเป็นการเพิ่มแนวทางในการต่อต้านการทุจริตได้อีกทางหนึ่ง

ส่วนม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า ปัญหาการทุจริตระดับบุคคลนั้น เป็นสิ่งที่แก้ได้ยากมาก ดังนั้นจะต้องแก้ปัญหาที่ระบบการบริหารจัดการ ด้วยการสร้างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการประมูลโครงการต่าง ๆ อย่างโปร่งใส นอกจากนี้ จะต้องมีการตรวจสอบกันเอง รวมถึงถูกตรวจสอบจากองค์กรภายนอก ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็ถูกตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ เช่น สภากทม., สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.), คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) รวมถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

นอกจากนี้ ยังเคยเสนอให้ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องแถลงนโยบายแก่สภากทม. ภายใน 14-15 วันหลังจากได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งหากไม่สามารถทำตามนโยบายที่แถลงไว้ ก็ให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจการทำงานของผู้ว่าฯกทม.ได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง