ปฏิกิริยาต่อการลงนามพูดคุยสันติภาพในมาเลเซีย

28 ก.พ. 56
13:44
87
Logo Thai PBS
ปฏิกิริยาต่อการลงนามพูดคุยสันติภาพในมาเลเซีย

แม้ว่าการลงนามร่วมระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ และตัวแทนของกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็น–โคออร์ดิเนต จะเป็นความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดจังหวัด แต่ผู้นำศาสนาและนักวิชาการหลายคนก็กังวลว่า ปัญหาการเมืองภายในประเทศ เสถียรภาพของรัฐบาลไทยที่ยังไม่แน่นอน รวมถึงความไม่พอใจของหน่วยงานด้านความมั่นคงบางส่วน ที่ไม่ต้องการยกระดับกลุ่มขบวนการ ก็อาจเป็นอุปสรรคในการพูดคุยสันติภาพ

ชื่อของนายอับอาซัน ตอยิบ หรือ อาแซ ตอยิบ กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง เมื่อเขาเป็นหนึ่งในตัวแทนของกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็น–โคออร์ดิเนต ที่เข้าพูดคุยกับตัวแทนของทางการไทย โดยเฉพาะสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือสมช ที่ร่วมเดินทางไปพร้อมกับนายกรัฐมนตรีในประเทศมาเลเซียวันนี้(28 ก.พ.)

นายอาแซ ปัจจุบันอายุ 68 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยในจังหวัดชวาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี 2519 และระหว่างที่ศึกษาในประเทศอินโดนีเซีย นายอาแซถูกแต่งตั้งให้เป็นประธานชมรมอิสลามปัตตานีภาคใต้ สาขาบันตุง ประเทศอินโดนีเซีย

หลังจบการศึกษาได้เดินทางกลับไทย และสร้างโรงเรียนปอเนาะในภูมิลำเนาที่บ้านบาโงสะโต อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ก่อนจะปิดตัวในเวลาต่อมา เพราะถูกเพ็งเล็งจากเจ้าหน้าที่ แล้วลี้ภัยไปอยู่ในประเทศมาเลเซีย
และในปี 2538 นายอาแซได้มีประชุมร่วมกับแกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มปลดแอกรัฐปัตตานี เพื่อเตรียมความพร้อมในการพูดคุยแนวทางการสร้างสันติภาพกับรัฐบาลไทย และได้รับมอบหมายให้ตั้งคณะทำงาน เพื่อวางแนวทางเจรจาในเรื่องนี้ ก่อนจะถูกแต่งตั้งให้เป็นรองเลขาธิการกลุ่มบีอาร์เอ็น–โคออร์ดิเนต รับผิดชอบด้านการเมือง รองจากนายสะแปอิง บาซอ เลขาธิการ บีอาร์เอ็น-โคออร์ดิเนต

<"">
<"">

 

ผลการเจรจาร่วมระหว่างรัฐและกลุ่มบีอาร์เอ็นในครั้งนี้ แม้จะเป็นความก้าวหน้ามากขึ้น เพราะถือเป็นการเจรจาระดับรัฐต่อรัฐครั้งแรก จากเดิมที่มักจะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติเป็นผู้พูดคุย แต่ยะโก๊ะ หร่ายมณี ผู้นำศาสนาจังหวัดปัตตานี ก็เห็นว่าปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศของทั้ง 2 ประเทศ ก็มีส่วนสำคัญที่อาจทำให้ความร่วมมือนี้ต้องหยุดชะงัก

เช่นเดียวกับ นิอับดุล รากิ๊บ บินนิฮัสซัน นักวิชาการ มอ.ปัตตานี ที่กังวลว่า เสถียรภาพของรัฐบาลไทยในปัจจุบัน หรือความไม่พอใจของบางฝ่าย โดยเฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคง หรือประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ต้องการยกระดับกลุ่มขบวนการเป็นองค์กร ก็อาจจะส่งผลทำให้การพูดคุยสันติภาพอาจล้มเหลวกลางคัน

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการยังเห็นว่า หากผลจากการพูดคุยสันติภาพจบลงที่การให้อำนาจในการปกครองกลับสู่ท้องถิ่นในสามจังหวัด ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องน่ากังวล เพราะจากบทเรียนของประเทศฟิลิปปินส์ ที่ทางการมาเลเซียเป็นตัวกลางช่วยเจรจาสันติภาพได้สำเร็จ แต่เมื่อได้อำนาจการปกครอง พรรคการเมืองของคนมุสลิมท้องถิ่นกลับพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งต่อพรรคการเมืองใหญ่มาโดยตลอด แต่ในทางกลับกันการให้อำนาจในการดูแลกันเองของคนในพื้นที่ ก็ช่วยจำกัดกรอบความรุนแรงให้น้อยลง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง