คืบหน้าเหตุแผ่นดินไหวซ้ำที่เนปาล หวั่นอาคารถล่มเพิ่มเติม

ต่างประเทศ
12 พ.ค. 58
12:41
143
Logo Thai PBS
คืบหน้าเหตุแผ่นดินไหวซ้ำที่เนปาล หวั่นอาคารถล่มเพิ่มเติม

ดาริน คล่องอักขระ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงานจากเมืองกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาลว่า ภายหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว 7.3 ที่เมือง Namche Bazar ห่างกรุงกาฐมาณฑุไปทางตะวันออก 83 กม. ทำให้ประชาชนตื่นตระหนกและวิ่งออกจากอาคารมาอยู่บริเวณถนน นอกจากนี้ยังเกิดไฟฟ้าดับ เบื้องต้นอาคารในกรุงกาฐมาณฑุยังไม่มีความเสียหาย ขณะที่ประชาชนเดินทางไปยังจุุดอพยพซึ่งเป็นพื้นที่โล่ง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวยังไม่สรุปว่าเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหม่ หรือเป็นอาฟเตอร์ช็อกของแผ่นดินไหวเมื่อ 25 เม.ย.2558 ขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่าในเบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตแล้ว 4 คน

วันนี้ (12 พ.ค. 2558) ประเทศเนปาลเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหม่ขนาด 7.3 มีศูนย์กลางอยู่ใกล้ชายแดนเนปาลติดกับเขตปกครองตนเองทิเบต ห่างกรุงกาฐมาณฑุออกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 83 กม. ความลึก 18.5 กม. โดยแรงสั่นสะเทือนรู้สึกได้ถึงกรุงนิวเดลีเมืองหลวงของอินเดีย และกรุงดักการ์ของบังคลาเทศ เมื่อช่วงเที่ยงวันที่ผ่านมา

รศ.ปัญญา จารุศิริ  อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยธรณีวิทยาแผ่นดินไหว  จุฬาฯ กล่าวว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นอีกครั้งในเนปาล มาจากสาเหตุเดิมคือการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกอินโด-ออสเตรเลียที่มุดลงใต้แผ่นเปลือกโลกยูโรเซียที่ยังคงมีอิทธิพลอยู่ ซึ่งแผ่นดินไหวขนาด 7.8 เมื่อวันที่ 25 เม.ย.อาจปลดปล่อยพลังงานที่สะสมไว้ไม่หมด แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวในขนาดที่เท่ากัน หรือขนาด 7.0 ขึ้นไปนี้อีกเมื่อใดและที่ไหน ดังนั้นประเทศที่อยู่ตามแนวเทือกเขาหิมาลัยซึ่งเป็นแนวรอยเลื่อนอย่างประเทศภูฏาน  ปากีสถาน แคว้นอัสสัมทางเหนือของประเทศอินเดีย และอัฟกานิสถาน จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

"ถ้าหากศูนย์กลางแผ่นดินไหวเขยิบตามแนวรอยเลื่อน มาเกิดขึ้นในทะเลบริเวณอ่าวเบงกอลของบังคลาเทศในขนาดเท่าๆ กัน  จุดนั้นถือว่าอันตรายมากเพราะจะทำให้เกิดสึนามิแน่ จึงอยากให้คนไทยเตรียมตัวให้พร้อมในเรื่องแผ่นดินไหวแต่ไม่ต้องถึงขั้นตื่นตระหนก นอกจากนี้ ยังยืนยันว่าแผ่นดินไหวในเนปาลกับทางภาคใต้ของไทยไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะเป็นแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนต่างลักษณะ ต่างแผ่นทวีป" รศ.ปัญญากล่าว

นพ.พัฒธพงษ์ ประชาสันติกุล ทีมแพทย์สนามฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติชุดที่ 2 ซึ่งอยู่ในเนปาล กล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.3 ที่เกิดขึ้นในวันนี้ (12 พ.ค.2558) เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 12.50 น.ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งทีมแพทย์สนามของไทยตั้งเต็นท์อยู่ที่ ต.ซิปปะกัต อ.สินธุปาโชค โดยขณะนั้นเกิดแรงสั่นสะเทือนจนสามารถรับรู้ได้ ทีมแพทย์และชาวเนปาลที่มารับการรักษาต้องวิ่งออกมาอยู่ที่ลานกว้างในบริเวณที่ตั้งเต็นท์ แรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นยังทำให้สิ่งของภายในเต็นท์กระจัดกระจายและบางหลังพังลงมา นอกจากนี้หมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนภูเขาได้พังถล่มลงมา ขณะที่เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บประมาณ 15-20 คน ส่วนใหญ่บาดเจ็บจากการวิ่งหนีเพื่อเอาชีวิตรอดและเป็นการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย

นพ.พัฒธพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทีมแพทย์สนามฉุกเฉินฯชุดที่ 2 นี้ เดิมทีเป็นทีมที่มาเพื่อฟื้นฟู แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวซ้ำขึ้นอีก ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนในการตั้งรับ เนื่องจากพื้นที่ที่เต๊นท์โรงพยาบาลสนามตั้งอยู่ห่างจากจุดที่เกิดแผ่นดินไหวประมาณ 75 กิโลเมตร รวมถึงต้องมีการย้ายเต็นท์โรงพยาบาลสนามออกจากพื้นที่เดิม เนื่องจากว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายหากมีอาฟเตอร์ช็อกรุนแรงเกิดขึ้น ขณะเดียวกันทีมแพทย์สนามฉุกเฉินฯ ยังต้องแบ่งหน้าที่ในการช่วยเหลือชาวเนปาลด้วย

ชี้แผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นอาฟเตอร์ช็อกของเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ริกเตอร์ คาดยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกต่อเนื่อง ขณะที่อาคารอ่อนแอมีความเสี่ยงถล่มเพิ่ม

ด้านศาสตราจารย์เป็นหนึ่ง วานิชชัย อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) กล่าวว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดขนาด 7.3 ริกเตอร์ น่าจะเป็นอาฟเตอร์ช็อกของเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ริกเตอร์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งที่แล้วครอบคลุมเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้

ทั้งนี้จุดศูนย์กลางเหตุแผ่นดินไหวครั้งที่แล้วเกิดขึ้นระหว่างเมืองบักคาราและเมืองกาฐมาณฑุ ซึ่งความเสียหายและเหตุแผ่นดินไหวทั้งหมดเกิดขึ้นทางตะวันออกของจุดศูนย์กลางทั้งหมดเนื่องจากบริเวณที่มีการไถลตัวของแผ่นเปลือกโลกอยู่ฝั่งตะวันออกทั้งหมด ซึ่งเป็นพื้นที่ทั้งยาวและกว้างซึ่งคลุมจุดที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ด้วย

"แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นขนาด 7.3 ครั้งนี้น่าจะเป็นหนึ่งในอาฟเตอร์ช็อกของเหตุแผ่นดินไหวครั้งที่แล้ว” ศ.เป็นหนึ่งระบุ

ศ.เป็นหนึ่งกล่าวเสริมว่า เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเนื่องจากการไถลของแผ่นเปลือกโลกครั้งที่แล้วยังไม่นิ่ง ยังคลายตัวไม่หมดซึ่งจะเป็นเช่นนี้ไปอีกสักพักใหญ่ เนื่องจากยังไม่เข้าที่และเมื่อเข้าที่อาฟเตอร์ช็อกจะค่อยๆ ลดลงแต่ต้องใช้เวลานานเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งก่อนมีขนาดใหญ่มาก

ทั้งนี้เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีประชากรค่อนข้างน้อยใกล้เทือกเขาหิมาลัย ผลกระทบจึงไม่น่าร้ายแรงมากหากเทียบกับครั้งที่ผ่านมา โดยอาคารร้อยละ 60 ในประเทศเนปาลเป็นอาคารอิฐก่อซึ่งไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อรับเหตุแผ่นดินไหว หรือแม้แต่อาคารที่สร้างจากคอนกรีตสำเร็จที่มีความแข็งแรงกว่าซึ่งมีอยู่ราวร้อยละ 25 ก็ไม่ได้ถูกออกแบบมารองรับแผ่นดินไหวเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเกิดอาคารพังถล่มเพิ่มเติมได้

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์  ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหว ม.เกษตรศาสตร์  ซึ่งขณะนี้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเหตุแผ่นดินไหวอยู่ทางตอนใต้ของกรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่าขณะเกิดเหตุกำลังอยู่บนรถที่เดินทางไปดูเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขาในเขตชนบท  เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว ได้มีชาวบ้านในละแวกนั้นวิ่งหนีออกมาอยู่กลางถนน บ้านเรือนที่ส่วนใหญ่เป็นบ้านดินพังถล่มลงมา ส่วนบริเวณหุบเขาด้านล่างในเขตชุมชนมองเห็นเป็นฝุ่นควันที่เกิดจากการพังทลายของสิ่งก่อสร้างและมีเศษวัสดุลอยออกมา ขณะที่บ้านเรือนที่เป็นบ้านดินมีโอกาสที่จะพังถล่มอีกได้ เนื่องจากฝนที่อาจตกตามมา

อย่างไรก็ตาม รศ.สุทธิศักดิ์ สันนิษฐานว่าเหตุแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นวันนี้ เป็นเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหม่ เนื่องจากจุดศูนย์กลางอยู่คนละที่จากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 เม.ย.2558

ศาสตราจารย์ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อว่าเหตุแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดนี้ เป็นแผ่นดินไหวครั้งใหม่ แต่มีความเกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวครั้งที่แล้วเนื่องจากเกิดในพื้นที่ใกล้เคียงกัน คือ อยู่ตรงรอยต่อระหว่างกลุ่มรอยเลื่อนที่เรียกว่าโค้งเทือกเขาหิมาลัย แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดนี้อาจเกิดจากการที่แผ่นดินไหวครั้งที่แล้วปลดปล่อยพลังงานไม่หมด สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ยังมีรอยเลื่อนอีก 2 กลุ่มที่อยู่ใกล้ๆ ภูฏานและแคว้นอัสสัมซึ่งเคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์คือขนาด 8.7 มาแล้ว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง