ปฏิกิริยาหลัง สมช.ลงนามบีอาร์เอ็น

1 มี.ค. 56
13:57
74
Logo Thai PBS
ปฏิกิริยาหลัง สมช.ลงนามบีอาร์เอ็น

นักวิชาการด้านความมั่นคง และนักการเมืองในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ตั้งคำถามถึงสถานะของนายฮาซัน ตอยิบ ที่อ้างอิงเป็นแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต ร่วมลงนามสัญญาเปิดพื้นที่พูดคุยเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังตรวจสอบพบว่าหน่วยงานด้านความมั่นคง และกลุ่มเคลื่อนไหวในพื้นที่ไม่ได้ให้ความสำคัญ ขณะที่นายกรัฐมนตรียืนยันเจตนาของรัฐบาลเพื่อแสวงหาแนวทางแก้ปัญหา หลังผู้นำฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่าอาจมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมือง

เกิดหลากหลายปฏิกริยาที่ตามมา หลังลงนามสัญญาการเปิดพื้นที่รับฟัง และแลกเปลี่ยนแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งไม่เพียงผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรที่ออกมาตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลไทย และมาเลเซียไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่ยังมุ่งหวังประโยชน์ทางการเมือง

ส.ว. ชี้ว่า การลงนามอาจเป็นได้ทั้ง "สันติภาพเบ่งบาน" หรือ "ระเบิดเวลารัฐบาล" เพราะกำลังพลิกการแก้ปัญหาครั้งประวัติศาสตร์ จากเดิมที่ปฏิเสธ เป็นการยอมรับ โดยยอมรับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมีตัวตน, ยอมรับให้มาเลเซียเป็นคนกลาง และยอมรับให้เวทีสากลเข้ามาร่วมแก้ปัญหา พร้อมตั้งคำถาม ฮาซัน ตอยิบ คือใครกันแน่

นักวิชาการด้านความมั่นคงเชื่อว่ารัฐบาลกำลังพยายามที่จะลดกิจกรรมของฝ่ายตรงข้าม และหวังจะประสานงานให้เกิดเอกภาพในการแก้ปัญหา แต่การลงนามที่ผิดรูปแบบและหลักการ อาจส่งผลให้ไทยเสียเปรียบและล้มเหลว

ข้อเคลือบแคลงสังสัย และข้อห่วงใยถูกวอนขอโดย นายกรัฐมนตรี ให้ทุกฝ่ายหยุดเชื่อมโยงประเด็น และอ้างอิงว่าบริบทที่เกิดขึ้นเพียงแค่การเริ่มต้นหาทางออก

คำยืนยันจากรัฐบาลคือการเดินหน้าเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบ โดยเลขาธิการ สมช.กล่าวว่า จะยึดหลักตามรัฐธรรมนูญไทย แม้เวทีแรกของการพูดคุยจะเริ่มในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าที่มาเลเซียก็ตาม และที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กลุ่มวาดะห์ ปฏิเสธที่จะขยายความ และขอเวลาในการแก้ไข พร้อมออกตัวว่าไม่ได้มุ่งหวังประโยชน์การเมือง

"ฮาซัน ตอยิบ" เดิมคือ "อาแซ เจ๊ะหลง" หรือ "มะรีเป็ง คาน" เป็นคน 2 สัญชาติไทย และมาเลเซีย ปัจจุบันเป็นสมาชิก ดีพีพี ของขบวนการ บีอาร์เอ็น แหล่งข่าวด้านความมั่นคงยืนยันว่าบุคคลนี้เคยร่วมกับ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร แถลงยุติความเคลื่อนไหว เมื่อปี 2551

เดิมบีอาร์เอ็น แบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ครองเกรซ, อุสลามา และโคออร์ดิเนต ซึ่งแหล่งข่าว ระบุว่า ฮาซัน ตอยิบ เป็นแกนนำบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต แต่เป็นรุ่นเก่า ซึ่งมีบทบาทด้านการเมืองที่แตกอุดมการณ์ไปจากรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยึดการปฏิรูป "ปัตตานีดาลุสอิสลาม" โดยหมายถึง "แผ่นดินที่คนอิสลามปกครอง"


ข่าวที่เกี่ยวข้อง